ผลกระทบของคลอเรตต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยและแนวทางการลดผลกระทบ

ตอบกลับโพส
อ.บอล
โพสต์: 882
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 01 เม.ย. 2013 4:49 pm
ติดต่อ:

ผลกระทบของคลอเรตต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยและแนวทางการลดผลกระทบ

โพสต์ โดย อ.บอล » ศุกร์ 21 มี.ค. 2014 7:00 pm

ผลกระทบของคลอเรตต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยและแนวทางการลดผลกระทบ

สมชาย องค์ประเสริฐ, ปฏิภาณ สุทธิกุลบุตร, และศุภธิดา อ่ำทอง
ภาควิชาดินและปุ๋ย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

การค้นพบว่าสารคลอเรตสามารถกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้ เป็นประโยชน์แก่ชาวสวนลำไยอย่างมากในระยะสั้นแน่นอน แต่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าถ้ามีการใช้สารคลอเรตในสวนลำไย อย่างกว้างขวางและในระยะยาวแล้วจะมีผลกระทบต่อต้นลำไย ต่อดินจุลินทรีย์ดิน และจะมีการปนเปื้อนของคลอเรตในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และในผลลำไยหรือไม่ อย่างไร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้สนับสนุนให้คณะผู้วิจัย ศึกษาถึงผลกระทบของการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตและโซเดียมคลอเรตต่อสิ่งแวด ล้อมในส่วนลำไย ตลอดจนหาแนวทางลดผลกระทบถ้ามี

การวิจัยนี้ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ 11 กิจกรรม แต่ละกิจกรรมมีวิธีการและผลการดำเนินการโดยย่อดังต่อไปนี้

1.การคัดเลือกสวนลำไยและดินที่ใช้ในการวิจัย
ใน จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนมีพื้นที่ปลูกลำไยมากถึง 68% ของประเทศ และพื้นที่ปลูกลำไยใน 2 จังหวัดนี้เป็นพื้นที่ลุ่ม 53% ส่วนอีก 47% เป็นพื้นที่ดอน หลังจากได้ศึกษาแผนที่ดินสำรวจสภาพดินและสวน และพูดคุยกับเจ้าของสวน 34 สวนแล้ว ได้คัดเลือกสวนลำไย 25 สวน แบ่งเป็นสวนในที่ลุ่ม 12 สวน ที่ดอน 13 สวน ตามหลักการจำแนกดิน ดินในสวนทั้ง 25 สวน แบ่งได้เป็น 10 ชุดดิน (Soil series) ซึ่งเป็นดินที่พบมากในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน และมี คุณสมบัติประการต่าง ๆ แตกต่างกันอย่างกว้างขวางเพียงพอที่จะใช้ศึกษาตามกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

2.การศึกษาการสลายตัวของคลอเรตและผลกระทบต่อสมบัติของดิน
นำ ดิน 10 ชนิดตามข้อ 1 มาผสมกับโพแทสเซียมคลอเรตและโซเดียมคลอเรตอัตรา 0, 100, 200, 300 และ 400 มก./กก. (อัตรา 400 มก./กก. นี้เป็นอัตราประมาณ 2 เท่าของการราดคลอเรตที่แนะนำโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้) แล้วบ่มไว้ในห้องทดลอง ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ปริมาณคลอเรตเมื่อ 50, 100, 184 และ 230 วันหลังจากผสม ส่วนหนึ่งของผลการทดลองแสดงในตารางที่ 1 พบว่าคลอเรตสลายตัวได้มากน้อยต่างกันอย่างมากระหว่างดินชนิดต่าง ๆ ตั้งแต่สลายตัวเกือบหมดใน 50 วันไปในดินหนึ่ง (ที่ความเข้มข้น 100 มก./กก.) จนถึงเกือบไม่สลายตัวเลยใน 100 วัน ในอีกดินหนึ่ง (ที่ความเข้มข้น 400 มก./กก.) เมื่อบ่มดินนาน 230 วัน คลอเรตจากโพแทสเซียมคลอเรตสลายตัวได้มากกว่า 90% ในดินที่คลอเรตสลายตัวได้เร็ว 4 ดิน ขณะที่ในดินที่คลอเรตสลายตัวช้า คลอเรตสลายตัวไปเพียงประมาณ 28-43% เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าการใส่โซเดียมคลอเรตทำให้คลอเรตสลายตัวช้า คือสลายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของการใส่โพแทสเซียมคลอเรตคลอ เรตสลายตัวได้เร็วในดินที่มีอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม และ CEC สูง และสลายตัวได้ช้าในดินที่มี % ทราย และ AEC สูง นั้นคือคลอเรตสลายตัวได้เร็วในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง นอกจากนี้ยังพบว่าการใส่โพแทสเซียมคลอเรตในระดับความเข้มข้น 100-400 มก./กก. ไม่มีผลต่อความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ แอมโมเนียมและ ไนเตรต แต่มีผลให้ปริมาณโพแทสเซียมในดินเพิ่มขึ้น

3.การศึกษาว่าจุลินทรีย์ดินมีส่วนในการสลายตัวของคลอเรตในดินมากน้อยเพียงใด
ได้ ผสมโพแทสเซียมคลอเรตกับดิน 5 ชนิดจากข้อ 1 ที่ผ่านและไม่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อ แล้วบ่มไว้ 15, 30, 63 และ 93 วัน จึงวิเคราะห์หาปริมาณคลอเรตในดิน ได้ผลว่าคลอเรตที่ผสมกับดินทุกชนิดที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อทุกความเข้มข้นและ ทุกระยะการบ่มไม่สลายตัวเลย คือพบคลอเรตใกล้เคียง 100% ของที่ผสมลงไป แต่กับดินที่ไม่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อมาก่อน คลอเรตสลายตัวได้มากน้อยต่างกันในดินแต่ละชนิด ดังตัวเลขในตารางที่ 2

ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าการสลายตัวของคลอเรตทั้งหมดในดิน เกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินล้วน ๆ การทำปฏิกิริยาทางเคมีโดยตรงระหว่างคลอเรตกับองค์ประกอบของดินไม่มีส่วนใน การสลายตัวของคลอเรตเลย ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงจุลินทรีย์จะมีกิจกรรมมาก คลอเรตจึงสลายตัวได้เร็ว

4.การศึกษาการเคลื่อนที่ของคลอเรตในดิน
ได้ ศึกษาโดยบรรจุดินลงในท่อพีวีซี ขนาด 10 ซม. ยาว 50 ซม. ใส่โพแทสเซียมคลอเรตอัตรา 200 และ 400 มก./กก. แล้วรดน้ำในปริมาณต่างกัน คือรดพอให้ดินเปียกลึก 15, 30 และ 45 ซม. (โดยไม่มีน้ำซึมออกจากดิน) รดน้ำอยู่ 3 ครั้งในเวลา 30 วัน แล้วแยกดินในท่อเป็นชั้น ๆ ชั้นละ 5 ซม. นำมาวิเคราะห์หาปริมาณคลอเรต พบว่าคลอเรตเคลื่อนที่ในดินไปกับน้ำได้ดีเมื่อให้น้ำมากคลอเรตก็เคลื่อนที่ ลึกลง

จากการคำนวณปริมาณคลอเรตที่ค้างอยู่ในดินชั้นต่าง ๆ พบว่าการให้น้ำมากซึ่งทำให้คลอเรตเคลื่อนที่ได้ลึกมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงทำให้คลอเรตกระจายเฉลี่ยไปในชั้นดินเท่านั้น แต่ยังทำให้คลอเรตสลายตัวไปได้มากขึ้นด้วย ในการทดลองกับดิน 2 ชนิด คือดินน้ำพองที่บ้านแม่โจ้ อำเภอสันทราย และดินปากช่องที่บ้านแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว พบว่าเมื่อให้น้ำพอให้ดินเปียกลึก 45 ซม. ทำให้คลอเรตสลายตัวได้มากเป็น 1.5 เท่าของการให้น้ำเพียงพอให้ดินเปียก 15 ซม.

5.การศึกษาผลกระทบความเข้มข้นของโพเทสเซียมตลอเรตต่อการหายใจของจุลินทรีย์ดิน
ได้ผสมผงถั่วเหลืองบดเล็กน้อยและเติมน้ำให้ดินชื้อพอเหมาะกับดิน 5 ชนิด แล้วแบ่งดินแต่ละชนิดเป็น 4 ส่วน ผสมโพแทสเซียมคลอเรตเข้มข้น 0, 100 และ 1,000 มก./กก. กับดิน 3 ส่วนแรกและนำดินส่วนที่ 4 ไปนึ่งฆ่าเชื้อจากนั้นก็วัดปริมาณ CO2 ที่เกิดจากดินทุกระยะ 3 วันจนถึง 18 วัน

ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่าดินที่ไม่ถูกนึ่งแต่มีคลอเรตผสมอยู่ 0, 100 และ 1,000 มก./กก. ทุกดิน และทุกระยะของการวัด มีปริมาณ CO2 เกิดขึ้นมากเท่า ๆ กัน ขณะที่ในดินที่ถูกนึ่งฆ่าเชื้อมี CO2 เกิดขึ้นเล็กน้อยนั้น คือจุลินทรีย์ในดินที่ถูกนึ่งฆ่าเชื้อตายเกือบหมด ขณะที่จุลินทรีย์ในดินที่ใส่คลอเรตยังหายใจเป็นปกติ สรุปได้ว่าจากการใส่โพแทสเซียมคลอเรต 1,000 มก./กก. ไม่ได้ทำให้ จุลินทรีย์ดินโดยรวมตายหรืออ่อนแอลง ดังตัวเลขในตารางที่ 3

6.การศึกษาผลกระทบของโพแทสเซียมคลอเรตต่อกระบวนการไนตริฟิเคชั่น
ได้ผสมผงถั่วเหลืองบดเล็กน้อยและเติมน้ำให้ดินชื้นพอเหมาะกับดิน 5 ชนิด แล้วแบ่งดินแต่ละชนิดเป็น 4 ส่วน ผสมโพแทสเซียมคลอเรตเข้มข้น 0, 1,000 และ 3,000 มก./กก. กับดิน 3 ส่วนแรก และนำดินส่วนที่ 4 ไปนึ่งฆ่าเชื้อ แล้วบ่มดินดังกล่าวทั้งหมดไว้ 7, 14, 28 และ 35 วัน จากนั้นก็นำไปวิเคราะห์ปริมาณ NH4+, NO2- และ NO3-

ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่าดินที่ถูกนึ่งไม่มี NH4+, NO2- และ NO3- เกิดขึ้นเลยในทุกดินในทุกระยะของการวัด สำหรับในดินที่ไม่ถูกนึ่งทั้งที่ใส่และไม่ใส่คลอเรตต่างมี NH4+ เกิดขึ้นมากในระยะ 7 วัน แต่ในดินที่ไม่ใส่คลอเรต มี NH4+ ลดลงเรื่อย ๆ เมื่อวันที่ 14, 28 และ 35 ขณะที่ในดินที่ใส่คลอเรต 1,000 และ 3,000 มก./กก. มีปริมาณ NH4+สูงเกือบเท่ากับเมื่อ 7 วัน แสดงว่าคลอเรต 1,000 และ 3,000 มก./กก. ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง NH4+ ไปเป็น NO2

เมื่อ วันที่ 28 และ 35 หลังจากบ่มดิน ในดินที่ใส่คลอเรตมี NO2- สูงกว่าในดินที่ไม่ใส่คลอเรต แต่มี NO3- ต่ำกว่า ข้อมูลนี้จึงยืนยันให้เห็นว่าคลอเรต 1,000 และ 3,000 มก./กก. มีผลบ้างต่อการเปลี่ยนแปลง NH4+ ไปเป็น NO2- และขัดขวางการเปลี่ยนแปลง NO2- ไปเป็น NO3- เกือบสิ้นเชิง

จึงสรุปได้ว่าโพแทสเซียมคลอเรตเข้มข้น 1,000 มก./กก. ขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนแปลงของไนโตรเจนในดินในช่วงการเปลี่ยน NO2- ไปเป็น NO3- จะได้ศึกษาต่อไป คลอเรตเข้มข้น 50-500 มก./กก. ซึ่งมักพบในสวนลำไยในเดือนแรกหลังใส่คลอเรตจะมีผลดังกล่าวหรือไม่ต่อไปที่ ข้อมูลบางส่วนของการทดลองนี้แสดงในภาพที่ 1

7.การศึกษาหาความเข้มข้นของโพแทสเซียมตลอเรตในดินที่ทำให้ไส้เดือนดินตาย
จาก การสังเกตเมื่อราดคลอเรตในสวนลำไยในฤดู พบว่าไส้เดือนจะพยายามหนีออกจากแนวที่ราดคลอเรตทันที ไส้เดือนจึงน่าจะใช้เป็นตัวกำหนดค่าความเข้มข้นวิกฤตของคลอเรตต่อสิ่งแวด ล้อมในดินได้ดีอีกชนิดหนึ่ง จึงได้ทดลองเลี้ยงไส้เดือนในดินที่ผสมคลอเรต โดยใช้ดินน้ำพอง 3 กิโลกรัม (ซึ่งคลอเรตสลายตัวช้าในดินนี้) ผสมปุ๋ยคอก 150 กรัม แล้วเติมโพแทสเซียมคลอเรตเข้มข้น 0, 100, 200, 300 และ 500 มก./กก. และน้ำให้ดินชื้นพอเหมาะใส่ไส้เดือน 10 ตัวต่อการทดลอง 1 ซ้ำ ทำการทดลอง 4 ซ้ำ จากนั้นตรวจนับไส้เดือนสัปดาห์ละครั้ง พบว่าที่ความเข้มข้น 500 มก./กก. ไส้เดือนตายเกือบหมดในสัปดาห์แรก ที่ความเข้มข้น 200 และ 300 มก./กก. ไส้เดือนตายเกือบหมดในสัปดาห์ที่ 2 และที่ความเข้มข้น 100 มก./กก. ไส้เดือนตายเกือบหมดในสัปดาห์ที่ 4ขณะที่ในดินที่ไม่มีคลอเรต เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 4ไส้เดือนยังอยู่เป็นปกติทั้งตัว ข้อมูลที่ได้แสดงว่าความเข้มข้น วิกฤตของคลอเรตต่อไส้เดือนจึงน่าจะต่ำกว่า 100 มก./กก. แต่ยังไม่สามารถทดลองเลี้ยงไส้เดือนเพื่อหาความเข้มข้น วิกฤตที่แน่นอนได้ เนื่องจากเข้าระยะปลายฤดูฝนที่ไส้เดือนตัวโตเต็มวัยจะตายเองโดยธรรมชาติ จึงจะได้ทำการทดลองต่อไปในต้นฤดูฝน พ.ศ. 2544

8.การติดตามตรวจสอบวัดผลตกค้างของสารคลอเรตในดินในสวนลำไย
ได้ ติดตามเก็บข้อมูลการใช้คลอเรต ได้แก่ วันที่ใส่ อัตรา และวิธีการใส่ ขนาดทรงพุ่ม และอายุของต้นลำไยในสวนลำไย 25 สวนที่คัดเลือกไว้ และได้เก็บตัวอย่างดินในสวนลำไยทั้ง 25 สวนมาวิเคราะห์แล้ว 7 ครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายน 2543 การเก็บตัวอย่างดินทั้ง 7 ครั้ง เป็นการเก็บดินหลังจากเกษตรกรใส่สารคลอเรตตั้งแต่ 2-540 วัน พบว่ามีปริมาณคลอเรตในดินแตกต่างกันอย่างมาก มีตั้งแต่ตรวจไม่พบเลยจนถึงมีมากถึง 569 มก./กก.

เมื่อ พิจารณาเป็นรายสวนพบว่ามีสวน 20 สวนใน 25 สวนที่ศึกษา ที่ปริมาณคลอเรตในชั้นหนึ่งชั้นใดของดินลดลงเหลือไม่เกิน 15 มก./กก. ภายในระยะเวลา 365 วันหลังการใส่โพแทสเซียมคลอเรต (ภายใน 1 รอบปี) โดยในสวนที่คลอเรตลดลงเร็วที่สุด คือ มีคลอเรตที่ชั้นหนึ่งชั้นใดในดินลดลงเหลือไม่เกิน 15 มก./กก. ภายใน ระยะเวลา 75-85 วัน ในจำนวนนี้มี 3 ส่วนที่ใส่คลอเรตเป็นปีที่ 2 จาก 4 สวนที่เหลือ ผลการวิเคราะห์ครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 2543 พบว่ายังมีคลอเรตตกค้างเกิน 15 มก./กก. แต่ไม่เกิน 35 มก./กก. ซึ่งสวนทั้ง 4 นี้มีดินที่จัดว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในเกณฑ์ต่ำ (เป็นดินทรายที่มีอินทรียวัตถุต่ำ) ใน 4 สวนนี้มีสวนหนึ่งใส่คลอเรตทุก ๆ ระยะ 9 เดือนมาแล้ว 3 ครั้ง สุดท้ายสวนที่ 25 นั้นมีการใส่โพแทสเซียมคลอเรตซ้ำซ้อนกันถึง 3 ครั้งภายในปีเดียว จึงพบว่ามีคลอเรตสะสมอยู่มากตลอดเวลา โดยเฉพาะในการวิเคราะห์ 3 ครั้งหลังสุด จึงจำเป็นต้องติดตามวิเคราะห์ดินในสวนทั้ง 5 สวนหลังนี้ต่อไป

สรุปได้ว่า ในสวนส่วนใหญ่ ภายใต้การจัดการที่เกษตรกรทั่วไปกระทำอยู่ในปัจจุบัน คลอเรตจะสูญเสียไปจากดินจนเหลือตกค้างอยู่ในดินตรงแนวที่เกษตรกรราดคลอเรต โดยตรงในระดับใดระดับหนึ่งของชั้นดินไม่เกิน 15 มก./กก. ภายในเวลา 75 ถึง 360 วันหลังจากใส่คลอเรต ยกเว้นดินที่เป็นดินทรายและมีอินทรียวัตถุต่ำเหลือตกค้างอยู่ไม่เกิน 35 มก./กก.

9.การติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนของสารคลอเรตในน้ำในบ่อและร่องคูใกล้สวนลำไยที่ใช้คลอเรต
ใน จำนวนสวนในที่ลุ่ม 12 สวน ที่ศึกษา มี 5 สวนที่มีแหล่งน้ำผิวดินที่อยู่ติดต้นลำไยที่ใส่คลอเรต ประกอบด้วยสระน้ำ และคูระหว่างร่องปลูกลำไย ได้เก็บตัวอย่างน้ำในแหล่งน้ำเหล่านี้มาวิเคราะห์หาปริมาณคลอเรต 3 ครั้งในเดือนสิงหาคม กันยายน และพฤศจิกายน 2543 พบว่าไม่มีคลอเรตตกค้างในแหล่งน้ำที่ติดอยู่กับกลุ่มต้นลำไยที่ใส่คลอเรต แม้ในระยะ 1 เดือนหลังจากใส่คลอเรต ซึงพบคลอเรตตกค้างอยู่ในดินเป็นจำนวนมาก

10.การติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนของสารคลอเรตในน้ำใต้ดิน
ได้ เก็บน้ำใต้ดินที่ระดับ 50-75, 75-100, 100-125 และ 125-150 ซม. จากสวน 9 สวนมาวัดปริมาณคลอเรต รวม 5 ครั้ง พบว่าปริมาณคลอเรตในน้ำใต้ดินใน 7 สวนจาก 9 สวน สอดคล้องกับปริมาณคลอเรตตกค้างในดินต่ำ คลอเรตในน้ำใต้ดินก็ต่ำด้วย ในบางสวนพบว่าคลอเรตในน้ำใต้ดินในบางความลึกของต้นลำไยบางต้น มีความเข้มข้นสูงกว่าที่พบทั่วไปนั้น คือพบระหว่าง 90-110 มก./กก. ในระยะ 23-64 วันหลังใส่คลอเรต โดยทั่วไปสรุปได้ว่าปริมาณคลอเรตที่ปนเปื้อนในน้ำใต้ดินในสวนส่วนใหญ่ (7 ใน 9 สวน) มีไม่เกิน 10 มก./กก. หลังจากใส่คลอเรตเกิน 138 วัน กำลังดำเนินการเลี้ยงกุ้งและปลาในน้ำที่มีคลอเรตความเข้มข้นต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลอ้างอิงกำหนดเป็นค่าวิกฤติของคลอเรตในน้ำ

11.การศึกษาการเร่งสลายคลอเรต
เมื่อ การใส่คลอเรตให้ผลที่ต้องการคือทำให้ลำไยออกดอกแล้ว โดยปกติภายใน 1 เดือน ก็น่าจะกระตุ้นให้คลอเรตที่เหลือตกค้างอยู่ในดินสลายตัวหมดไปจากดินโดยเร็ว จึงได้ทดลองหาวัสดุชนิดต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีขึ้น เช่น น้ำกากส่า ซึ่งมีน้ำตาลปนอยู่จำนวนหนึ่ง และปุ๋ยอินทรีย์เหลว (ที่นิยมเรียกกันว่าน้ำสกัดชีวภาพ) และตัวจุลินทรีย์เอง (ที่ถูกอ้างว่ามีประสิทธิภาพ) ตลอดจนปุ๋ยไนโตรเจน (ยูเรีย) โดยตรงมาผสมกับดินที่ใส่คลอเรต ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการซ้ำ 2 ครั้ง พบว่ามีแต่น้ำกากส่าเท่านั้นที่ทำให้คลอเรตสลายตัวได้เร็วขึ้น ขณะนี้กำลังดำเนินการศึกษาในสนาม

12.จากผลการวิจัยสู่การปฏิบัติ
แม้ จะยังไม่ถึงเวลาสรุปผลกระทบของการใช้สารคลอเรตในสวนลำไยต่อสิ่งแวดล้อมได้ แต่โดยสามัญสำนึกทั่วไปน่าจะกล่าวได้ว่า จะต้องมีการจัดการต่าง ๆ เพื่อให้คลอเรตมีผลตกค้างเหลืออยู่ในดินน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและต้นลำไยน้อยที่สุดด้วย มาตรการที่ขอเสนอเพื่อให้มีผลตกค้างของคลอเรตอยู่ในดินน้อยที่สุด ได้แก่

1. การใส่คลอเรตในปริมาณที่เหมาะสมกับชนิดดิน คำแนะนำการใส่คลอเรตที่มีอยู่ในปัจจุบันยังเป็นคำแนะนำทั่วไป แต่ผลการวิจัยในข้อที่ 2 พบว่าคลอเรตสลายตัวในดินแต่ละชนิดได้เร็วช้าต่างกัน ประกอบกับมีรายงานในต่างประเทศว่าความเป็นพิษของโซเดียมคลอเรตต่อพืชนั้น ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย ดังนั้นปริมาณคลอเรตที่พอเหมาะเพื่อกระตุ้นการออกดอกของลำไยที่ปลูกในดิน ต่างชนิดจึงน่าจะต่างกัน ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยในหัวข้อนี้ จึงน่าจะมีการสนับสนุนให้มีการใช้คลอเรตที่เหมาะสมกับดินแต่ละชนิดต่อไป

2. ผลการวิจัยข้อ 4 ที่ว่า “การให้น้ำมากซึ่งทำให้คลอเรตเคลื่อนที่ได้ลึกมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงทำให้คลอเรตกระจายเฉลี่ยไปในชั้นดินเท่านั้น แต่ยังทำให้คลอเรตสลายตัวไปได้มากขึ้นด้วย” ดังนั้นเมื่อลำไยออกดอกแล้วในหน้าแล้ง จึงน่าจะให้น้ำมาก ๆ พอให้ดินเปียกลึก ถึง 30-40 ซม. สัก 2 ครั้ง แทนที่การให้น้ำเพียงให้ดินเปียกลึก 15-25 ซม. ตามที่เกษตรกรทั่วไปทำกันอยู่ ก็จะทำให้คลอเรตสลายตัวไปได้มากขึ้น การให้น้ำมากนี้จะต้องให้ระยะเวลาห่างกัน พอให้ดินแห้งก่อนจะให้น้ำอีกครั้ง มิฉะนั้นจะทำให้มีน้ำแฉะในดินติดต่อกันนานเกินไป จนทำให้ต้นลำไยตายได้

3. อีกแนวทางหนึ่งที่น่าจะทำเพื่อเร่งให้คลอเรตสลายตัวได้เร็วคือการบำรุงให้ ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง จากผลการวิจัยข้อ 3 ที่ว่า “การสลายตัวของคลอเรตในดินเกิดจากกิจกรรมของ จุลินทรีย์ดินล้วน ๆ คลอเรตจึงสลายตัวได้เร็วในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง”

4. จากผลการวิจัยข้อ 2 ที่ว่า “การใส่โซเดียมคลอเรตทำให้คลอเรตสลายตัวช้ากว่าการใส่โพแทสเซียมคลอเรต” ทำให้มีอีกแนวทางหนึ่งสำหรับการลดผลกระทบของการใช้สารคลอเรต คือควรใช้โพแทสเซียมคลอเรตแทนโซเดียมคลอเรต

แหล่งข้อมูล:

http://rescom.trf.or.th/display/show_co ... _colum=922
รับผลิตสินค้า อาหารเสริมพืช สั่งผลิตตราตัวเองขั้นต่ำ 1 ลัง ออกแบบแบรนด์ ออกแบบฉลาก ส่งวิเคราะห์ขึ้นทะเบียน ถูกต้อง ขายสบายใจทำตลาดของตัวเอง รับประกันสินค้า มีหลากหลายเกรดให้เลือก สอบถามโทร 0897522999 0815502458 ครับ
http://www.pnpandbest.com

ตอบกลับโพส

ย้อนกลับไปยัง “รวมเนื้อหา สาระน่ารู้ เกี่ยวกับฮอร์โมนพืช”

ผู้ใช้งานขณะนี้

สมาชิกกำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และบุคลทั่วไป 9