เงาะ (Nephelium lappaceum L.)
เปลี่ยนเพศดอก
NAA สามารถใช้เปลี่ยนเพศดอกเงาะพันธุ์สีชมพูจากดอกกะเทยซึ่งทำหน้าที่ดอกตัวเมียให้เป็นดอกตัวผู้ได้ ความเข้มข้นของสารที่เหมาะสมคือ NAA 80 ถึง 160 มก/ล (ถ้าใช้สาร Planofix ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เคมีเกษตรจะต้องใช้ความเข้มข้นตํ่ากว่านี้คือใช้ Planofix 0.5-1 มล/ ล ซึ่งจะได้ความเข้มข้นของ NAA เท่ากับ 22.5 ถึง 45 มก/ ล) พ่นสารดังกล่าว ไปที่ช่อดอกเงาะบางช่อในระยะดอกตูมหรือเพิ่งเริ่มบานไม่เกิน 10% ในช่อจะทำให้เกิดดอกตัวผู้ ได้ภายหลังการให้สาร 6 วัน และจะทะยอยกันบานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 11 วัน จึงหมดฤทธิ์ของสาร วิธีการดังกล่าวใช้กับเงาะพันธุ์โรงเรียนได้เช่นกัน ในทางปฏิบัติแล้วชาวสวนมักจะใช้สารดังกล่าวเมื่อดอกเงาะในช่อบานประมาณ 50% โดยพ่นสารเป็นจุดรอบทรงพุ่มเพื่อเปลี่ยนให้เป็นดอกตัวผู้บางส่วนเท่านั้น ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการผสมเกสรกับดอกข้างเคียงให้ติดเป็นผลได้สมํ่าเสมอทั่วทั้งต้น
เร่งการเปลี่ยนสีผิว
การทดลองใช้ ethephon และ GA3 เร่งการเปลี่ยนสีผิวของเงาะพันธุ์โรงเรียน ปรากฎว่าใช้ได้ผลดี ทำให้ผลในช่อเปลี่ยนสีอย่างสมํ่าเสมอทุกผล และเร่งให้เปลี่ยนสีได้เร็วขึ้นกว่าปกติ 1-2 วัน โดยที่คุณภาพของผลไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ความเข้มข้นที่เหมาะสมคือ ethephon 10 มก/ล หรือ GA3 250 มก/ล โดยพ่นสารไปที่ผลในระยะที่ผลเริ่มเปลี่ยนสี
มะม่วง (Mangifera indica L.)
การขยายพันธุ์
ในต่างประเทศได้มีงานทดลองใช้สารออกซินเพื่อเร่งการเกิดรากของกิ่งปักชำมะม่วง สารที่ใช้ได้ผลพอสมควรคือ NAA และ IBA ความเข้มข้น 5,000 ถึง 10,000 มก/ล โดยจุ่มปลายกิ่งในสารละลายประมาณ 30 วินาที นอกจากนี้ยังพบว่าการควั่นกิ่งทิ้งไว้ประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ก่อนที่จะตัดลงมาจุ่มในออกซินจะช่วยให้การออกรากดีขึ้น ในกรณีของการตอนกิ่งก็เช่นกัน การควั่นกิ่งก่อนทำการตอนจะช่วยให้การออกรากดีขึ้น (Bartholome และ Criley, 1983) การใช้สาร chlormequat ความเข้มข้น 10,000 มก/ ล หรือ ethephon ความเข้มข้น 250 มก/ ล พ่นต้นมะม่วง 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละสัปดาห์ ภายหลังการพ่นสารครั้งสุดท้าย
3 วัน จึงตัดลงมาปักชำหรือตอน โดยการจุ่มปลายกิ่งปักชำในสารละลาย IBA ความเข้มข้นประมาณ 4,000 มก/ ล เป็นเวลา 30 วินาที หรือใช้ IBA ความเข้มข้นเดียวกันทาที่รอยควั่นด้านบนของกิ่งตอน ก่อนปักชำหรือตอนตามลำดับ การปฏิบัติดังกล่าวช่วยเพิ่มการออกรากได้ดีกว่าการใช้สาร IBA เพียงอย่างเดียว
ในประเทศไทยมีงานทดลองใช้ NAA ความเข้มข้น 1,000 ถึง 8,000 มก/ ล ในการปักชำยอดมะม่วงแก้ว (ยอดอ่อนอายุประมาณ 45 วัน) เพื่อนำมาใช้เป็นต้นตอในการติดตา หรือทาบกิ่ง พบว่า NAA ทุกความเข้มข้นที่ใช้สามารถเร่งการเกิดรากได้ดีกว่าการไม่ใช้สาร อย่างไรก็ตามเปอร์เซ็นต์กิ่งที่ออกรากได้ก็ยังน้อยอยู่ คือ ได้เพียง 27.5 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
การขยายพันธุ์มะม่วงในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำโดยการทาบกิ่งและติดตา ดังนั้น งานทดลองต่างๆ จึงเน้นในเรื่องนี้ เคยมีการทดลองใช้สาร NAA ความเข้มข้น 100 ถึง 800 มก/ ล ซึ่งผสมในรูปครีมลาโนลิน ทาเหนือรอยทาบมะม่วงแรดบนต้นตอมะม่วงแก้ว จะช่วยให้เกิดการ ประสานกันของรอยทาบได้มากขึ้นและเร็วขึ้น ต่อมาได้มีการทดลองใช้สารละลาย NAA ความเข้มข้น 100 มก/ล เพื่อเร่งการเจริญของรากของต้นตอมะม่วงแก้ว เมื่อทาบบนกิ่งมะม่วงนํ้าดอกไม้ทะวาย 4 โดยให้สาร 3 ระยะ คือ จุ่มถุงขุยมะพร้าวก่อนทาบและการฉีดสารประมาณ 10 มล เข้าไปภายในถุงขุยมะพร้าว เมื่อทาบได้ 20 และ 30 วัน พบว่าการให้สารโดยการฉีดเข้าไปบริเวณต้นตอเมื่อทาบได้ 20 วัน จะทำให้การเกิดรากดีขึ้นและมากขึ้น โดยจะสังเกตได้ชัดเมื่อตัดกิ่งทาบลงมาปักชำเมื่ออายุ 45 วัน นอกจากนี้การจุ่มรอยปาดของต้นตอในสารละลาย NAA ความเข้มข้น 200 มก/ ล ก่อนนำไปทาบ จะช่วยให้การประสานรอยแผลดีขึ้น และต้นตอเกิดรากมากขึ้นกว่าการไม่ใช้สาร
เมื่อปี พ.ศ. 2526 ได้มีการทดลองใช้สาร BAP ความเข้มข้น 2,000 ถึง 8,000 มก/ ล ซึ่งผสมในรูปครีมลาโนลิน ทาที่ตามะม่วงนํ้าดอกไม้ทะวาย # 4 ซึ่งติดสนิทดีแล้วบนต้นตอม่ะม่วงแก้ว ปรากฎว่าวิธีการดังกล่าวสามารถเร่งการแตกตาได้เร็วขึ้น และเพิ่มเปอร์เซ็นต์การแตกตาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สารความเข้มข้น 8,000 มก/ ล ซึ่งให้เปอร์เซ็นต์การแตกตาในสัปดาห์แรกเท่ากับ 37.1 และในสัปดาห์ที่ 5 จะเพิ่มขึ้นเป็น 91.4 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่ตาซึ่งไม่ได้ให้สารมีการเจริญในสัปดาห์แรกเพียง 8.5 เปอร์เซ็นต์ และสูงสุดในสัปดาห์ที่ 5 เพียง 60.0 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
การเติบโตทางกิ่งใบ
การใช้ PGRC เพื่อควบคุมการเจริญเติบโตทางกิ่งใบมีผล 2 ด้านคือ ลดการเติบโตทางกิ่งใบเพื่อส่งเสริมการออกดอก และลดความยาวกิ่งเพื่อความเหมาะสมในการปลูกระยะชิดมีการทดลองใช้สาร maleic hydrazide ความเข้มข้น 1,000-7,000 มก/ล พ่นที่กิ่งอ่อนของมะม่วง พันธุ์ Bangapalle พบว่าสามารถชะลอการแตกกิ่งครั้งใหม่ได้นาน 55 ถึง 79 วัน ซึ่งมีผลในการเพิ่มการออกดอกได้ด้วย การใช้ daminozide ก็ให้ผลเช่นกันแต่แสดงผลได้น้อยกว่าการใช้ maleic hydrazide (Das และ Panda, 1976) การใช้สาร GA3 ความเข้มข้น 50 มก/ ล พ่นต้นมะม่วง 2-4 ครั้งก่อนการออกดอกจะมีผลชะลอหรือยับยั้งการออกดอกได้แต่จะกระตุ้นการเจริญเติบโตทางกิ่งใบแทน (Singh, 1961) ต่อมา Chacko และคณะ (1976) ได้ทดลองใช้ GA3 ความเข้มข้น 1,000 มก/ล กับมะม่วงพันธุ์ Kurkan อายุ 5 ปี ปรากฎว่าได้ผลเช่นเดียวกัน
การทดลองในประเทศไทยโดยใช้สาร daminozide กับมะม่วงแก้วและนํ้าดอกไม้ทะวาย # 4 ได้ทำขึ้นหลายเรื่อง แต่ผลจากการใช้สารดังกล่าวไม่สามารถลดการเติบโตทางกิ่งใบได้ และได้ทดลองใช้สาร maleic hydrazide ความเข้มข้น 500 ถึง 2,000 มก/ ล พ่นต้นมะม่วงนํ้าดอกไม้ทะวาย -# 4 อายุประมาณ 2 ปี ในขณะที่ใบชุดใหม่ยังอ่อนอยู่ (ประมาณ 10 วัน หลังจากแตกตา) ปรากฎว่า maleic hydrazide ความเข้มข้น 1,000 และ 2,000 มก/ล จะชะลอการแตกกิ่งชุดใหม่ได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์และทำให้ความยาวกิ่งลดลงประมาณ 18 ถึง 36 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ทำให้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งเพิ่มขึ้น(เยียรมัย, 2528) ส่วนการใช้สาร paclobutrazol กับมะม่วงนํ้าดอกไม้ทะวาย#4 เช่นกัน โดยการพ่นสารทางใบด้วยความเข้มข้น 125 และ 250 มก/ล และการรดลงดินโดยใช้เนื้อสาร 1 ถึง 4 กรัมผสมน้ำ 100 มล รดโคนต้นมะม่วงซึ่งมีอายุประมาณ 2 ปี ผลปรากฏว่าการใช้สารดังกล่าวลดความยาวกิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการให้สารได้ การพ่นสารทางใบเพียง 1 ครั้ง มีผลต่อพืชน้อยกว่าการรดลงดิน และความยาวของกิ่งจะลดลงมากขึ้นเมื่อใช้ความเข้มข้นสูงขึ้น การใช้สาร 1 กรัมต่อต้นทำให้ความยาวกิ่งลดลง 33 เปอร์เซ็นต์ และถ้าใช้ถึง 4 กรัมต่อต้นจะทำให้ลดลงได้ถึง 42 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้สารที่มีต่อการออกดอก การติดผล และคุณภาพของผล ก่อนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป
การออกดอก
การทดลองเรื่องการออกดอกของมะม่วงมีมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศ อินเดียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะม่วงสำคัญของโลกเช่นกัน จากผลการทดลองดังกล่าว พอได้แนวทางว่าในช่วงที่มะม่วงกำลังออกดอกจะมีการสร้างเอทิลีนขึ้นมาจากใบเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันปริมาณ GAS จะลดลง จากหลักการนี้จึงได้มีการทดลองใช้สารชะลอการเจริญเติบโตซึ่งมีผลในการยับยั้งการสร้าง GAs หรือใช้ ethephon ซึ่งเป็นสารปลดปล่อยเอทิลีน พ่นต้นมะม่วงเพื่อเร่งการเกิดดอก มีรายงานว่าการใช้สาร daminozide หรือ maleic hydrazide พ่นต้นมะม่วงพันธุ์ Bangapalle จะทำให้จำนวนช่อดอกต่อต้นเพิ่มขึ้น สารดังกล่าวไม่ได้ทำให้ต้นมะม่วงออกดอกเร็วขึ้น แต่ทำให้จำนวนกิ่งที่เกิดช่อดอกเพิ่มมากขึ้น (Das และ Panda, 1976) การใช้ ethephon ความเข้มข้น 1,000 ถึง 4,000 มก/ล พ่นต้นมะม่วงพันธุ์ Mypelian อายุ ประมาณ 3 ปี (เพาะจากเมล็ด) เป็นจำนวน 4 ครั้ง โดยทิ้งช่วงห่างกันครั้งละ 2 สัปดาห์ และเริ่มให้สารครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ผลปรากฎว่า ethephon ทุกความเข้มข้นสามารถกระตุ้น การเกิดดอกได้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ในขณะที่ต้นซึ่งไม่ได้รับสารมีการเจริญเฉพาะทางด้านกิ่งใบโดยไม่เกิดดอก ethephon ความเข้มข้น 2,000 ถึง 4,000 มก/ ล กระตุ้นการเกิดดอกได้ แต่มีผลทำให้ใบร่วงเป็นบางส่วน (Chacko และคณะ, 1976) การทดลองใช้ maleic hydrazide เพื่อช่วยลดความยาวกิ่งของมะม่วงนํ้าดอกไม้ทะวาย #4 ในประเทศไทยมีผลทำให้ช่อดอกต่อต้นเพิ่มขึ้น นั่นคือจะเกิดช่อดอกทั้งหมด 18 ช่อ จากกิ่งทดลอง 48 กิ่ง ในสัปดาห์ที่ 4 หลังการใช้สาร maleic hydrazide 1,000 มก/ล ในขณะที่ต้นซึ่งไม่ได้ให้สาร เกิดช่อดอกเพียง 4 ช่อเท่านั้น (เยียรมัย, 2528) ส่วนการใช้สาร daminozide นั้นพบว่าไม่สามารถเร่งหรือเพิ่มการเกิดดอกของมะม่วงพันธุนี้
สารโพแทสเซียมไนเตรทหรือดินประสิว (KNO3) ถึงแม้จะไม่ได้จัดเป็น PGRC แต่ก็มีรายงานว่าช่วยเร่งการเกิดดอกของมะม่วงบางพันธุ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ Carabao และพันธุ์ Pico ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งตอบสนองต่อการใช้ KNO3 ได้ดี ความเข้มข้นของ KNO3 ที่ใช้ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 1-2 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ว่าความเข้มข้นมากกว่านี้จะใช้ได้ผลดีกว่า แต่ก็อาจเป็นสาเหตุให้ใบไหม้ (Bartholomew และ Criley, 1983) การที่ KNO3เร่งการเกิดดอกได้นั้นอาจเป็นเพราะว่าอนุภาคไนเตรท (NO-3) เป็นองค์ประกอบสำคัญของเอนไซม์บางชนิดซึ่งเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์เอทิลีนในพืช ดังนั้นสารไนเตรทชนิดอื่นเช่น แอมโมเนียมไนเตรท (NH4 NO3) แคลเซียมไนเตรท (Ca(NO3)2) จึงสามารถใช้เร่งดอกมะม่วงได้เช่นกันแต่ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเท่า KNO3 การใช้ KNO3 เร่งดอกมะม่วงพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยมักจะใช้ได้ไม่ค่อยแน่นอนและมักใช้ไม่ได้ผลเป็นส่วนใหญ่ถึงแม้จะเพิ่มความเข้มข้นสูงขึ้นจนใบไหม้ก็ตาม การใช้ KNO3 กับมะม่วงจะใช้ได้เมื่อใบมะม่วงแก่จัดพร้อมที่จะออกดอกได้เท่านั้น และการใช้ KNO3ผสมกับ PGRC บางชนิด เช่น ethephon,NAA หรือ BAP ก็มีรายงาน ว่าได้ผลดีกว่าการใช้ KNO3 เพียงอย่างเดียว กัญชนาและอนันต์ (2527) ได้ทดลองใช้ KNO3 3% ผสมกับ ethephon 500 มก/ ล หรือ kinetin 10 มก/ ล หรือผสมทั้ง 3 อย่างรวมกัน แล้วพ่นยอดมะม่วงนํ้าดอกไม้ทะวายเพียงบางยอด ในเดือนกันยายน หรือตุลาคม หรือ พฤศจิกายน ปรากฎว่า การให้สารในเดือนกันยายนไม่ทำให้มะม่วงเกิดช่อดอก แต่ถ้าให้ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน จะช่วยให้เกิดช่อดอกได้บางส่วนโดยยอดที่ไม่ให้สารก็จะไม่เกิดช่อดอกเลย องค์ประกอบของสารที่น่าจะใช้ได้ผลดีคือ KNO3 3% ผสมกับ kinetin 10 มก/ ล อย่างไรก็ตามการใช้สารดังกล่าว ช่วยให้เกิดช่อดอกได้เพียงบางส่วนเท่านั้นกล่าวคือถ้าให้สารในเดือนตุลาคมจะทำให้เกิดช่อดอกได้เพียง 17.25 เปอร์เซ็นต์ และถ้าให้สารในเดือนพฤศจิกายน จะเกิดช่อดอกได้ 35 เปอร์เซ็นต์ การออกดอกดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากให้สาร 2 สัปดาห์
การพัฒนาของผลและการหลุดร่วง
ฮอร์โมนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการหลุดร่วงของผลอย่างมาก จากงานวิจัยที่น่าสนใจมากของ Chen (1983) พบว่าปริมาณไซโตไคนินในผลมะม่วงพันธุ์ Irwin จะเพิ่มมากขึ้นจนถึงจุดสูงสุดภายใน 5-10 วันหลังดอกบาน โดยส่วนใหญ่จะพบในเนื้อผล และหลังจากนั้นจะลดปริมาณลงอย่างมากตั้งแต่ผลมีอายุ 20 วันขึ้นไป ในขณะเดียวกันปริมาณไซโตไคนินในเมล็ดจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นจนถึงจุดสูงสุดเมื่อผลมีอายุ 25-30 วัน และจะค่อยๆ ลดลงเป็นลำดับจนกระทั่งผลแก่ ปริมาณไซโตไคนินที่พบนั้นจะมีในเมล็ดมากกว่าในเนื้อผล แต่ผลที่เติบโตขึ้นมาโดยไม่มีการผสมเกสรและไม่มีการพัฒนาของเมล็ดนั้น ในช่วงต้นของการติดผลก็มีไซโตไคนินอยู่บ้างเล็กน้อย แต่เมื่อผลนั้นมีอายุ 30 วัน (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 1.5-2.0 ซม ) จะพบว่าปริมาณไซโตไคนินในเนื้อผลเกือบเท่ากับศูนย์ และในช่วงนี้เองที่ผลเหล่านี้จะร่วงหมด (100%) จากการค้นพบครั้งนี้จึงสามารถใช้อธิบายสาเหตุการหลุดร่วงของผลได้เป็นอย่างดี นั่นคือเมล็ดมะม่วงเป็นแหล่งสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตต่างๆ รวมทั้งไซโตไคนิน ซึ่งสารเหล่านี้มีผลต่อการแบ่ง เซลล์ การขยายขนาดและการหลุดร่วงของผล เมื่อผลมะม่วงเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีเมล็ด ก็อาจอยู่ได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้นก่อนที่จะหลุดร่วงไป Chen (1983) ยังได้ทดลองต่อไปโดยใช้สารออกซิน จิบเบอเรลลินและไซโตไคนินพ่นช่อดอกมะม่วง โดยครั้งแรกพ่นสาร BAP ความเข้มข้นประมาฉ 350 มก/ ล ในระยะดอกบานและให้สารครั้งที่ 2 ภายหลังจากครั้งแรก 20 วัน โดยใช้สารผสมของ BAP 350 มก/ ล ผสมกับ GA3 250 มก/ ล และ NAAm 5 มก/ ล ผลปรากฎว่าการปฏิบัติ ดังกล่าวสามารถช่วยเพิ่มการติดผลได้
การใช้สารออกซินผสมกับจิบเบอเรลลินและไซโตไคนิน พ่นช่อดอกและผลมะม่วงอาจช่วยป้องกันการร่วงของผลที่ไม่มีเมล็ดได้ แต่ต้องให้สารเป็นระยะๆ ถึง 7 ครั้ง จึงจะทำให้ผลนั้นไม่ร่วงจนกระทั่งแก่จัดถึงกระนั้นก็ยังได้ผลเพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (Chacko และ Singh 1969) อย่างไรก็ตามการทำเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน สารออกซินหลายชนิดช่วยลดการร่วงของผลก่อนเก็บเกี่ยวได้ในมะม่วงต่างประเทศบางพันธุ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สาร NAA ความเข้มข้น 10 ถึง 40 มก/ล เมื่อผลมีอายุประมาณ 5 ถึง 6 สัปดาห์ และจะได้ผลดียิ่งขึ้นถ้าให้สาร 2 ครั้งโดยทิ้งช่วงห่างกัน 15 วัน สาร daminozide ความเข้มข้น 100 มก/ล ก็มีผลป้องกันการร่วงของมะม่วงบางพันธุ์ได้เช่นก็ (Pal และคณะ, 1979) สาร GA3 สามารถเพิ่มขนาดและนํ้าหนักผลเมื่อใช้สารความเข้มข้น 100 มก/ ล ในระยะที่ผลอ่อนมีขนาดเท่าหัวแมลงวัน และถ้าใช้ชํ้า 3 ครั้งทิ้งช่วงห่างกันครั้งละ สัปดาห์จะให้ผลดียิ่งขึ้น (Singh และคณะ, 1977 ; Pander และคณะ,1980)
การทดลองใช้ PGRC เพื่อช่วยการติดผลและป้องกันผลร่วงของมะม่วงในประเทศไทย ได้ทำขึ้นหลายเรื่อง เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีมาแล้ว โดยใช้สาร 2-NOA และ GA3 กับมะม่วงพันธุ์ต่างๆ ปรากฎว่าสารทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่สามารถเพิ่มการติดผลหรือป้องกันผลร่วงได้ หลังจากนั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่ปรากำว่ามีงานทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีกเลย
การสุกของผล
การสุกของผลมะม่วงมีหลักการคล้ายผลไม้ชนิดอื่นๆ คือถูกกระตุ้นโดยเอทิลีน ความเข้มข้นของเอทิลีนที่ใช้บ่มโดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 10 ถึง 20 ส่วนในอากาศล้านส่วน โดยต้องมีห้องบ่มที่เหมาะสม และสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ อุณหภูมิที่เหมาะต่อการสุกของผลมะม่วงคือ ประมาณ 21°ซ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนสีผิวเป็นไปได้ด้วยดี การบ่มผลมะม่วงนํ้าดอกไม้ ภายใต้อุณหภูมิสูงอาจเกิดปัญหาว่าผิวผลไม่เปลี่ยนสีทั้งๆ ที่เนื้อภายในจะสุกแล้วก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่มีห้องบ่มผลไม้ จึงมีการใช้ถ่านก๊าซบ่มผลมะม่วงแทนซึ่งเร่งการสุกของผลได้ดี แต่ความสมํ่าเสมอในการสุกยังไม่ดีเท่าการใช้ ethephon สุมาลี (2524) ได้ทดลองบ่มผลมะม่วงพันธุ์หนังกลางวัน โดยจุ่มผลในสารละลาย ethephon ความเข้มข้น 1,000 มก/ล เป็นเวลา 1 นาที จะทำให้ผลสุกสมํ่าเสมอกันภายใน 3 วัน
มะละกอ (Carica papaya L.)
เร่งการงอกของเมล็ด
มีการทดลองหลายเรื่องโดยใช้ PGRC เร่งการงอกของเมล็ด พบว่าในบรรดาสารดังกล่าวนั้น GA3 ความเข้มข้น 50 ถึง 500 มก/ ล จะเร่งอัตราการงอกของเมล็ดให้เร็วขึ้นได้ แต่ไม่ช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอก ส่วน NAA หรือ IAA จะยับยั้งการงอก นอกจากนี้ วุ้นหุ้มเมล็ด มะละกอยังมีผลยับยั้งการงอกอีกด้วย ในประเทศไทยเคยมีงานทดลองใช้สาร GA3 และ ethephon แช่เมล็ดมะละกอพันธุ์แขกดำก่อนนำไปเพาะ พบว่าการใช้ GA3 ความเข้มข้น 250 มก/ ล จะทำให้เมล็ดงอกได้เร็วกว่าปกติประมาณ 4 วัน แต่เปอร์เซ็นต์การงอกไม่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าใช้ ethephon โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มข้น 100 หรือ 150 มก/ล จะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกเพิ่มขึ้นและงอกได้เร็วขึ้น ethephon 150 มก/ล จะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกเพิ่มขึ้นจาก 42.5 เป็น 64.2 และงอกเร็วขึ้นประมาณ 6 วัน
เปลี่ยนเพศดอก
ethephon มีผลในการกระตุ้นการเจริญของเพศเมีย การให้สาร ethephon ความเข้มข้น 100 ถึง 300 มก/ ล ในระยะที่ต้นกล้ามีใบจริง 2 ใบ และให้สารซํ้าอีกครั้งภายหลังจากครั้งแรก 15 ถึง 30 วัน จะทำให้เกิดการเจริญของดอกตัวเมียมากขึ้นถึง 90% (Singh และ Sharma, 1976) การทดลองใช้สาร ethephon ความเข้มข้น 100มก/ล กับมะละกอในประเทคไทย โดยพ่นให้ต้นกล้าเพียงครั้งเดียวในระยะที่มีใบจริง 2 ใบ (หรือต้นกล้าอายุประมาณ 21 วัน) พบว่ามีแนวโน้ม ทำให้เกิดต้นที่ให้ดอกสมบูรณ์เพศมากขึ้นกว่าปกติ อนึ่งต้นกล้าที่ใช้ต้องเป็นต้นที่เกิดจากเมล็ดของผลจากต้นสมบูรณ์เพศเท่านั้น
เพิ่มปริมาณปาเปน (papain)
ปาเปนคือเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ย่อยโปรตีน พบอยู่ทั่วทั้งต้นมะละกอ แต่จะมีมากในนํ้ายางในผลมะละกอดิบ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารหลายชนิด ปริมาณนํ้ายาง และปาเปนที่กรีดได้จากผลมะละกอแต่ละครั้งจะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงมีการทดลองใช้ สาร ethephon เพิ่มการไหลของนํ้ายางมะละกอในลักษณะเดียวกับการใช้เร่งนํ้ายางพารา พบว่า ethephon ช่วยเพิ่มการไหลของยางมะละกอได้และยังเพิ่มปริมาณปาเปนอีกด้วย การใช้ ethephon 200 มก/ ล พ่นทั่วต้นมะละกอจะเพิ่มการไหลของนํ้ายางได้ และถ้าใช้ ethephon ประมาณ 5,000 มก/ ล ผสมในนํ้ามันมะพร้าวทาที่ผลดิบอายุประมาณ 75-80 วัน โดยทาเป็นแนวยาว 4 แนว หลังจากนั้น 2 สัปดาห์จึงเริ่มกรีดยางพบว่าจะทำให้ปริมาณนํ้ายางเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าของปกติและมีปริมาณปาเปนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า
ลางสาดและลองกอง (Lansium domesticum Corr.,Aglaia dookkoo Griff)
เพิ่มการติดผล
มีงานทดลองในประเทศฟิลิปปินส์ โดยใช้ GA3, NAA, IBA และ chlorflureno ในระยะต่างๆ คือระยะเป็นตาดอก ระยะดอกบาน และระยะเริ่มการติดผล พบว่าการใช้สาร GA3 ความเข้มข้น 5, 25 หรือ 125 มก/ล ในระยะดอกบานหรือระยะก่อนดอกบานเล็กน้อยจะช่วยเพิ่มการติดผลได้ดี ไม่ว่าความเข้มข้นใดก็ตาม แต่ที่ความเข้มข้น 125 มก/ล มีผลทำให้ขนาดของผลเล็กลง ถ้าใช้สาร GA3 ในระยะติดผลแล้วจะทำให้ผลมีขนาดใหญ่และนํ้าหนักมากขึ้น การใช้ IBA ไม่ว่าระยะใดก็ตามจะทำให้ติดผลน้อยลงจนช่อโปร่ง ส่วน NAA ไม่สามารถช่วยในการติดผล ถ้าใช้ chlorflurenol ความเข้มข้น 5 มก/ ล ในระยะที่ยังเป็นตาดอกจะช่วยเพิ่มการติดผลและขนาดของผลเช่นกัน
ป้องกันการหลุดร่วงของผล
การทดลองใช้ NAA และสารการค้า Planofix ซึ่งมี NAA 4.5% เป็นสารออกฤทธิ์ พ่นช่อผลลางสาดในระยะที่ผลเริ่มเปลี่ยนป็นสีเหลืองจะช่วยลดการหลุดร่วงของผลได้ ความเข้มข้นที่เหมาะสมคือ NAA 100 ถึง 400 มก/ ล การใช้ Planofix ความเข้มข้น 0.1 ถึง 0.4 มล/ ล (หรือ ความเข้มข้นของ NAA ในผลิตภัณฑ์เท่ากับ 4.5 ถึง 18มก/ล)จะให้ผลดีกว่าการใช้สารในรูปสารบริสุทธิ์ เนื่องจากสาร Planofix เป็นผลิตภัณฑ์เคมีเกษตร ซึ่งมีสารเพิ่มประสิทธิภาพ (adjuvant) ผสมอยู่ด้วยเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์เคมีเกษตรอื่นๆ อีกหลายชนิด ดังนั้นการใช้สารเหล่านี้ความเข้มข้นเท่ากับหรือตํ่ากว่าการใช้สาร NAA ในรูปสารบริสุทธิ์ มักจะได้ผลดีกว่า การที่สาร NAA มีผลช่วยลดการหลุดร่วงของผลนั้นมีประโยชน์มากในการเก็บเกี่ยวผล เนื่องจากผลลางสาดมักหลุดร่วงได้ง่ายถ้าได้รับการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเก็บเกี่ยวในระยะที่ผลแก่จัด
เร่งการเปลี่ยนสีผิว
ลองกองมีการบานของดอกในช่อไม่พร้อมกัน ดังนั้นผลในช่อเดียวกันจึงมีอายุไม่เท่ากัน เเละมีปัญหาเรื่องบางผลในช่อมีเปลือกสีเขียวในขณะเก็บเกี่ยว การทดลองใช้ ethephon ความเข้มข้น 200 มก/ ล พ่นช่อผลในระยะที่ผลในช่อเริ่มเปลี่ยนสีเหลืองประมาณ 10-20% ของช่อ จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนสีได้ 100% ภายใน 14 วัน ในขณะที่พวกที่ไม่ได้ให้สารมีการเปลี่ยนสีเพียง 25% ท่านั้นการใช้ ethephon ดังกล่าวไม่มีผลต่อการหลุดร่วงของผลบนต้นหรือขณะทำการขนส่ง
ลำไย (Euphoria longana Lam.)
เร่งการแก่ของผล
การทดลองกับลำไยพันธุ์แห้วโดยใช้ ethephon ร่วมกับ daminozide โดยครั้งแรกพ่นสาร daminozide ความเข้มข้น 500 มก/ ล ที่ช่อผลก่อนการเก็บเกี่ยวปกติ 4 สัปดาห์แล้วจึงให้ thephon ความเข้มข้น 250 ถึง 1,000 มก/ ล ภายหลังจากให้ daminozide แล้ว 1 สัปดาห์ จะช่วยเร่งให้ผลแก่เร็วขึ้น 4-12 วัน และมีความหวานเพิ่มขึ้น แต่การใช้ ethephon ความเข้มข้นสูงจะทำให้ผลร่วงได้มาก daminozide ช่วยลดการร่วงของผลเนื่องจากอิทธิพลของ ethephon ลงได้บ้าง
สับปะรด (Ananas comosus (L.) Merr.)
กระตุ้นการเกิดหน่อ
chlorf’lurenol อัตรา 225 ถึง 450 กรัมต่อไร่ ผสมน้ำ 300 ถึง 450 ลิตร (ความเข้มข้นประมาณ 750 ถึง 1,000 มก/ล) พ่นส่วนบนของต้นสับปะรดพร้อมๆ กับการใช้สารเร่งดอกหรือหลังจากให้สารเร่งดอกแล้วไม่เกิน 7 วัน จะกระตุ้นให้เกิดหน่อข้างสำหรับใช้ขยายพันธุ์ได้มากขึ้น การให้สารซํ้า 2 ครั้งโดยทิ้งช่วงห่างกัน 10 ถึง 12 วัน จะได้ผลดีกว่าให้สารเพียงครั้งเดียว
เร่งการเกิดดอก
ethephon อัตรา 95 ถึง 175 กรัมต่อไร่ผสมน้ำ 175 ถึง 545 ลิตร (หรือความเข้มข้นประมาณ 300 ถึง 500 มก/ล) พ่นต้นสับปะรดเมื่อต้นแก่ได้ขนาดพร้อมที่จะออกดอก ส่วนใหญ่ประมาณ 6-8 เดือนก่อนการเก็บเกี่ยว อายุขั้นตํ่าของสับปะรดที่สามารถกระตุ้นให้ออกดอกได้คือ 4 เดือน หรือมีนํ้าหนักสดเฉลี่ย 878 กรัม แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ในสภาพอุณหภูมิตํ่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิในเวลากลางคืนไม่เกิน 20°ซ.
การปลูกสับปะรดในประเทศไทยขณะนี้มีการใช้ ethephon กระตุ้นการออกดอกเช่นกันโดยใช้สารอีเทรล (Ethrel : เป็นชื่อการค้าซึ่งมีethephon เป็นสารออกฤทธิ์ผสมอยู่ 39.5%) อัตรา 150 มล ผสมนํ้า 200 ลิตร (ได้ความเข้มข้น 300 มก/ ล) โดยเติมยูเรีย (urea) 6 กก. ลงไปด้วย เพื่อช่วยให้การดูดซึมสารดีขึ้น และหยอดที่ยอดของต้นสับปะรดต้นละ 45-50 มล อายุที่เหมาะสม และพร้อมที่จะออกดอกคือ 8-9 เดือนหรือมีนํ้าหนักประมาณ 2.5 กก การใช้ ethephon ให้ได้ผลดีควรใช้ในขณะที่มีอากาศเย็นช่วงเวลากลางคืนหรือเช้ามืด ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปการใช้ ethephon กระตุ้นการเกิดดอกจะมีประสิทธิภาพตํ่าลง ในกรณีที่คาดว่าจะออกดอกได้ยาก ควรใช้สารซ้ำอีกครั้งหนึ่งภายหลังการให้ครั้งแรก 14-20 วัน แต่ไม่ควรให้ซ้ำภายใน 7 วัน เนื่องจากจะมีผลยั้บยั้งการเกิดดอก
การใช้แคลเซียมคาร์ไบด์หรือถ่านก๊าซให้ผลในการเร่งการเกิดดอกของสับปะรดดีกว่าการใช้ ethephon ในอดีตมีการใช้สารนี้ในการผลิตสับปะรดในประเทศไทย และในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการใช้กันอยู่ในอีกหลายประเทศ วิธีการใช้คือนำแคลเซียมคาร์ไบด์ 200 กรัมผสมในน้ำเย็น 75 ถึง 100 ลิตร แล้วหยอดยอดสับปะรดต้นละ 50 ถึง 80 มล การให้สารควรทำซ้ำภายใน 2 ถึง 5 วัน เพื่อให้ได้ผลแน่นอน การใช้แคลเซียมคารไบด์เป็นก้อนเล็กๆ โดยไม่ผสมน้ำก่อน ก็ใช้ได้ผลเช่นกัน แต่อาจไม่ดีเท่าการผสมนํ้าก่อน อัตราการใช้แตกต่างกันไปเช่นไต้หวันใช้ 1 ก้อน แคลเซียมคารไบด์ประมาณ 0.5 ถึง 0.7 กรัม หยอดที่ยอด ส่วนในคิวบา ใช้สาร 2 กรัม ต่อต้น
NAA ใช้เร่งดอกสับปะรดได้เช่นกันแต่ประสิทธิภาพตํ่ากว่าการใช้สารอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แต่มีข้อดีในแง่ของราคาซึ่งค่อนข้างตํ่าและง่ายต่อการเก็บรักษาหรือใช้งาน ความเข้มข้นที่เหมาะสมคือ 5 ถึง 20 มก/ล หยอดยอดต้นละ 20 ถึง 50 มก ถ้าใช้ความเข้มข้นสูงหรือตํ่ากว่านี้ จะไม่ได้ผล
เพิ่มขนาดผล
NAA ความเข้มข้น 100 มก/ล ช่วยเพิ่มขนาดผลได้ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้สารคือเมื่อกลีบดอกเริ่มแห้ง ผลที่ได้รับสารจะมีขนาดใหญ่และนํ้าหนักมากขึ้น แต่มีผลทำให้แก่ช้าลง 1-4 สัปดาห์ ข้อเสียอีกประการหนึ่งคือ มักจะทำให้ผลสุกจากข้างในก่อนที่ผิวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ขนาดก้านและแกนจะใหญ่ซึ่งไม่เหมาะต่อการทำสับปะรดกระป๋อง จากผลเสียที่กล่าวมาจึงเป็นสาเหตุให้การใช้สารนี้ไม่แพร่หลายในการผลิตสับปะรดเพื่อบรรจุกระป๋อง
สารอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคตคือ GA4 ผสม GA7 และ BAP (ชื่อการค้าคือ Promalin ซึ่งยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย) การใช้สารผสมนี้ ในความเข้มข้น 50 มก/ล พ่นที่ผลจะทำให้นํ้าหนักเพิ่มขึ้นได้ 13% ความยาวผลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและคุณภาพผลไม่เปลี่ยนแปลง
เร่งการแก่และการเปลี่ยนสีผล
การใช้ ethephon อัตรา 96 ถึง 176 กรัมต่อไร่(ผสมน้ำ 176 ถึง 544 ลิตร หรือความเข้มข้นประมาณ 300 ถึง 1,000 มก/ล) พ่นให้ทั่วใบและผลในระยะที่ผลแรกในแปลงเริ่มเปลี่ยนลี จะช่วยเร่งการเปลี่ยนสีของผลทั้งหมดในแปลงได้ อัตราที่ใช้ต้องดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิสูงควรใช้ความเข้มข้นตํ่าเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การใช้ ethephon ที่กำหนดนี้ ไม่มีผลเสียต่อคุณภาพผลและผลผลิต ในประเทศไทยเคยทดลองใช้ ethephon ความเข้มข้นต่างๆ พ่นรอบผลหรือหยอดที่จุก โดยให้สารในสัปดาห์ที่ 19 นับจากวันหยอดสารกระตุ้นให้ออกดอกพบว่า ethephon ความเข้มข้นตั้งแต่ 1,500 ถึง 6,000 มก/ ล โดยการพ่นสารรอบจะเร่งให้ผลแก่เร็วขึ้นได้ อายุเก็บเกี่ยวของผลปกติคือ 172 วัน แต่ถ้าให้สาร ethephon 1,500 6,000 มก/ ล จะทำให้ผลแก่เร็วขึ้น 9 วัน และถ้าใช้ความเข้มข้นสูงก็จะเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น นั่นคือการใช้ ethephon 6,000 มก/ ล จะเก็บเกี่ยวผลได้เร็วขึ้น 19 วัน แต่ผลจากการใช้สารความเข้มข้นสูงๆ คือ ผลจะมีขนาดเล็กลง อย่างไรก็ตามอาจเป็นประโยชน์ในการผลิตสับปะรดกระป๋อง ซึ่งไม่ต้องการผลขนาดใหญ่มากนัก
ชะลอการสุก
การจุ่มผลลับปะรดในสารละลาย NAA ความเข้มข้น 100 มก/ล จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้ การจุ่มผลในสารละลายดังกล่าวจะได้ผลดีถ้าผลนั้นแก่จัดแต่ยังไม่เปลี่ยนสี และจุ่มเฉพาะตัวผลเท่านั้นไม่รวมจุก NAA จะทำให้ผลคงความเขียวได้นานขึ้น และยังช่วยลดการเน่าของ ผลลงไดถึง 50% ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการขนส่งไปจำหน่ายไกลๆ เหมาะสำหรับสับปะรดที่ใช้บริโภคผลสด
สตรอเบอรี่ (Fragaria spp)
ป้องกันการเกิดไหล (stolon)
การใช้ chlormequat ความเข้มข้น 12,000 มก/ล พ่นต้นสตรอเบอรี่ทันทีหลังการเก็บเกี่ยวจะช่วยป้องกันการเกิดไหล นอกจากนี้ยังมีการทดลองใช้ paclobutrazol ความเข้มข้น ตั้งแต่ 50 ถึง 1,000 มก/ล รดลงดิน หรือพ่นทางใบต้นละ 4 มล ให้ต้นสตรอเบอรี่ภายหลังย้ายปลูก ประมาณเดือนครึ่ง พบว่าการเติบโตของลำต้นจะลดลงตามความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นและจะไม่เกิดไหล ประโยชน์ที่ตามมาคือเกิดการติดผลมากขึ้น และผลมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ผลผลิตรวมสูงขึ้น
เพิ่มการเกิดไหล
มีการทดลองใช้ GA3 ความเข้มข้น 550 มก/ ล พ่นต้นสตรอเบอรี่อายุ 1 ปี โดยอาจพ่นเพียงครั้งเดียวหรือ 2 ครั้ง โดยทิ้งช่วงห่างกันเดือนละครั้ง มีผลทำให้จำนวนไหลต่อต้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก (Dennis และ Bennett, 1969) ในประเทศไทยก็เคยทดลองใช้ GA3 ความเข้มข้น 50 มก/ ล พ่นต้นสตรอเบอรี่พันธุ์ไทโอก้า (Tioga) ซึ่งนิยมปลูกในขณะนี้ โดยพ่นสาร 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ภายหลังย้ายปลูก 30 วัน และให้สารซ้ำอีกครั้งหลังจากครั้งแรก 1 เดือนจะทำให้ได้จำนวนไหลเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ส้ม (Citrus spp ) (ทั่วๆ ไป)
กระตุ้นการพักตัว
ในกรณีที่ต้องการให้ส้มเกิดการพักตัวเพื่อสะสมอาหารให้มากขึ้นก่อนการออกดอก การใช้ maleic hydrazide อัตรา 120 ถึง 540 กรัมต่อไร่ ผสมนํ้าให้มากพอที่จะพ่นต้นจนใบเปียกทั่วกัน จะทำให้ไม่เกิดการแตกยอดอ่อนหรึอตาดอก ถ้าตามีทีท่าว่าจะเจริญออกมาก็สามารถให้ สารซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ป้องกันผลร่วงและเพิ่มขนาดผล
การใช้ 2,4-D ความเข้มข้น 24 มก/ล พ่นไปที่ผลจะช่วยเพิ่มขนาดผลและป้องกันผลร่วงได้วิธีนี้ใช้ได้ผลกับเกรพฟรุต (grapefruit) และพวกส้มเกลี้ยง ส้มตรา การให้สารควรทำในระยะดอกบานเต็มที่ หรือระยะที่ผลแก่จัดก่อนการเปลี่ยนสี การใช้ 2,4-D ผสมกับ GA3 ความเข้มข้น 20 มก/ล จะได้ผลดียิ่งขึ้น และช่วยชะลอการเปลี่ยนสีผิวได้ การใช้ NAA ป้องกันการร่วงของผลจะใช้ได้ดีกับมะนาวฝรั่ง (lemon) โดยการใช้ NAA ความเข้มข้น 12 มก/ ล พ่นไปที่ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีอากาศเย็นจัด ซึ่งทำให้เกิดการร่วงของผลมาก
เพิ่มการติดผล
การใช้ GA3 ความเข้มข้น 10 ถึง 25 มก/ล พ่นต้นในระยะดอกบานเต็มที่จะช่วยเพิ่มการติดผลและเพิ่มผลผลิต ใช้ได้ผลดีกับส้มเปลือกบางเช่นส้มเขียวหวาน เคยมีการทดลองในประเทศไทยโดยใช้ GA3 ความเข้มข้น 25 ถึง 100 มก/ ล พ่นที่ช่อดอกส้มเขียวหวานในระยะดอกบานเต็มที่จะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดผลได้ การใช้ GA3 ความเข้มข้น 50 มก/ล ให้ผลดีที่สุดโดยมีจำนวนผลมากกว่าการไม่ใช้สาร ประมาณ 3 เท่า แต่นํ้าหนักผลจะลดลงประมาณ 21-27 เปอร์เซ็นต์และเปลือกจะบางลง ส่วนการใช้สาร 2,4-D ความเข้มข้น 10 ถึง 40 มก/ ล แทนการใช้ GA3 พบว่า 2,4-D ช่วยในการติดผลได้เช่นกันแต่มีประสิทธิภาพตํ่ากว่าการใช้ GA3 และนํ้าหนักผลลดลงน้อยกว่าการใช้ GA3 สารฆ่าราบางชนิดเช่น Captan (N-(trichloromethylthio)-4-cyclohexane-1,2-dicarboximide) ก็สามารถเพิ่มการติดผลของส้มเกลี้ยงส้มตราได้ โดยใช้ Captan อัตรา 890 กรัมต่อไร่ พ่นในระยะกลีบดอกโรยจนกระทั่งผลมีขนาดไม่เกิน 1.3 ซม จะช่วยเพิ่มการติดผล
ชะลอการแก่ของผล
GA3 สามารถชะลอการแก่และการเปลี่ยนสีผิวของส้มได้ เช่นการใช้ GA3 กับมะนาวฝรั่งโดยใช้ความเข้มข้น 25 มก/ล ในระยะก่อนที่ผลจะเริ่มมีการเปลี่ยนสี จะทำให้ผลแก่ช้าลงและยืดอายุการเก็บเกี่ยวออกไปได้ 4 ถึง 6 สัปดาห์ การใช้ GA3 ความเข้มข้น 5 ถึง 15 มก/ล ผสมกับ 2,4-D ความเข้มข้น 8 ถึง 12 มก/ล ใช้ชะลอการแก่ผลของมะนาวและมะนาวฝรั่งได้ดีในบางประเทศ ถ้าใช้กับส้มเกลี้ยงหรือส้มตราจะใช้สาร GA3 ความเข้มข้น 5 ถึง 20 มก/ล พ่นที่ผล ในระยะก่อนเริ่มการเปลี่ยนสี จะช่วยชะลอการแก่ได้เช่นกัน ในประเทศไทยเคยทดลองใช้ GA3 กับส้มเขียวหวาน โดยใช้ GA3 ความเข้มข้น 20 มก/ ล พ่นที่ผลในระยะก่อนเริ่มเปลี่ยนสี พบว่าวิธีการดังกล่าวสามารถชะลอการเปลี่ยนสีของผิวได้ แต่มีปัญหาเรื่องขั้วผลแห้งและร่วงมากขึ้น
เร่งการเปลี่ยนสีผิว
การใช้ ethephon ความเข้มข้น 160 ถึง 2,000 มก/ล พ่นให้ทั่วต้นเมื่อผลประมาณ 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์บนต้นเริ่มแก่และเริ่มเปลี่ยนสี จะทำให้ผลเปลี่ยนสีเร็วขึ้นและความเหนียวของขั้วลดลงสะดวกในการเก็บเกี่ยว การให้สารอาจมีผลทำให้ใบแก่หลุดร่วงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใช้ความเข้มข้นสูง ห้ามใช้ surfactant ผสมลงในสารละลาย เนื่องจากจะทำให้ใบร่วงมากขึ้น การใช้ ethephon หลังการเก็บเกี่ยว ก็ช่วยเร่งการเปลี่ยนสีผิวได้ การใช้ ethephon ความ เข้มข้น 800 มก/ล กับมะนาวฝรั่ง โดยการพ่นสารเป็นฝอยละเอียดให้ทั่วผล จะช่วยเร่งการเปลี่ยนสีผิวได้ดี
ยับยั้งการออกดอก
การยับยั้งการออกดอกในช่วงที่ไม่ต้องการเพื่อให้ออกดอกได้มากขึ้นในฤดูถัดไปมีแนวทางทำได้โดยการใช้ GA3 ความเข้มข้น 20 ถึง 25 มก/ ล พ่นให้ทั่วต้นในช่วงที่คาดว่าต้นส้มจะออกดอก จะเป็นการยับยั้งการออกดอกได้ และมีผลให้เกิดดอกได้มากขึ้นในระยะหลัง
ลดความหนาและขรุขระของเปลือก
ผลส้มที่มีขนาดใหญ่ มักจะมีเปลือกหนาและขรุขระกว่าปกติ เนื่องจากผลเหล่านี้มีปริมาณ GAS สูงกว่าปกติ การใช้ chlormequat ความเข้มข้น 1,500 มก/ ล พ่น 2 ครั้งทิ้งช่วงห่างกัน 2 สัปดาห์ โดยพ่นที่ผลในระยะที่ผลยังอ่อนอยู่แต่เริ่มเห็นการขรุขระของเปลือกแล้วหรือพ่นสาร เพียงครั้งเดียวโดยใช้ความเข้มข้น 2,500 มก/ ล จะช่วยลดความหนาและความขรุขระของเปลือกลงได้
องุ่น (Vitis vinifera L.)
เร่งการแตกตา
การแตกตาขององุ่นโดยปกติจะถูกยับยั้งไว้โดยสารยับยั้งการเจริญเติบโต นอกจากในสภาพที่มีอุณหภูมิไม่เหมาะสม ก็มีผลยับยั้งการแตกตาเช่นกัน ในต่างประเทศได้มีการทดลองสารต่างๆ เร่งการแตกตาขององุ่น สารหลายชนิดเช่น 2-chloroethanol, calcium cyanami (CaCN2),chlorflurenol, daminozide, BAP สามารถเร่งการแตกตาขององุ่นพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยได้ทดลองใช้สารเหล่านี้บางชนิดเพื่อเร่งการแตกตาขององุ่นเช่นกัน ได้แก่การทดลองใช้ CaCN2 ความเข้มข้น 10 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับปุ๋ยใบ (Merit) ความเข้มข้น 50 เปอร์เซ็นต์ กับกิ่งปักชำองุ่นพันธุ์ไวท์มาละกา(White Malaga) โดยทาที่ตาตำแหน่งต่างๆ สารดังกล่าวจะช่วยเร่งการแตกตาให้เร็วขึ้น และเพิ่มเปอร์เซ็นต์การแตกตาได้ โดยที่การใช้ CaCN2 20 เปอร์เซ็นต์ กระตุ้นให้ตาตำแหน่งที่ 1 เจริญออกมาได้เร็วขึ้น 10 วัน และเพิ่มเปอร์เซ็นต์การแตกตาจาก 33 เป็น 90 เปอร์เซ็นต์ และได้มีงานทดลองในทำนองเดียวกันนี้กับองุ่นพันธุ์ไวท์มาละกา และคาร์ดีนัล (Cardinal) โดยใช้สาร 2-chloroethanol แทนการใช้ CaCN2 พบว่าการใช้สาร
2-chloroethanol ผสมนํ้าในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.25 หรือ 1 ต่อ 2.5 ทาที่ตาดังกล่าวจะเร่งให้แตกตาได้เร็วขึ้นและเพิ่มเปอร์เซ็นต์การแตกตาได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้มีการทดลองใช้สาร 2-chloroethanol หรือ CaCN2 กับองุ่นสำหรับทำเหล้าพันธุ์ต่างๆ ซึ่งได้ทดลองปลูกในประเทศไทย ซึ่งปรากฎว่าสารดังกล่าวใช้ได้ผลดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม CaCN2 เป็นสารพิษที่ทำอันตรายต่อผิวหนังคนและสัตว์ และยังมีผลในเชิงสารกำจัดวัชพืชและเป็นสารปลิดใบ ส่วน 2-chloroethanol เป็นสารพิษร้ายแรง ดังนั้นการใช้สารเหล่านี้ในทางปฏิบัติจึงเป็นไปได้ยาก นอกจากต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง จึงมีแนวโน้มว่า น่าจะใช้ประโยชน์จากสารชนิดอื่นมากกว่าเช่น daminozide ซึ่งเป็นสารที่มีพิษน้อยและหาซื้อได้ง่าย มีรายงานว่าการใช้สารนี้ 20 ถึง 2000 มก/ ล กับกิ่งปักชำองุ่นพันธุ์ St. Emilion จะช่วยเร่งการแตกตาได้ แต่ยังไม่มีการทดลองใช้สารนี้กับองุ่นในประเทศไทย
ทำให้ช่อโปร่ง ยืดช่อ และเพิ่มขนาดผล
การใช้ gibberellic acid ความเข้มข้น 1 ถึง 30 มก/ล พ่นทั่วต้นจะช่วยยืดช่อ เพิ่มความโปร่งของช่อ และลดการเน่าเสียของผลภายในช่อได้ การให้สารควรทำเมื่อช่อมีความยาว 7-10 ซม ความเข้มข้นที่ใช้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ การใช้สารชุบช่อผลแต่ละช่อให้ผลดีกว่าการพ่น แต่สิ้นเปลืองแรงงานมากกว่า ในประเทศไทยใช้ gibberellic acid ความเข้มข้นประมาณ 1 ถึง 5 มก/ล พ่นต้นองุ่นพันธุ์ไวท์มาละกา (white malaga) และคาร์ดีนัล (cardinal) ในระยะก่อนดอกบานประมาณ 7-10 วัน เพื่อทำให้ช่อยืดยาวออกและมีความโปร่งมากขึ้น ถ้าใช้สารหสังดอกบานประมาณ 10 วัน โดยการพ่นที่ช่อหรือชุบแต่ละช่อจะช่วยขยายขนาดของผลได้ องุ่นพันธุ์ลูซเพอร์เลทท์ (loose perlette) ที่ปลูกในประเทศไทยสามารถใช้ gibberellic acid ความเข้มข้น 50 มก/ล ชุบช่อผลภายหลังดอกบาน 10 วัน จะทำให้ผลมีขนาดใหญ่ขึ้น
ที่มา:พีรเดช ทองอำไพ
การใช้สารสังเคราะห์ กับไม้ผล
การใช้สารสังเคราะห์ กับไม้ผล
รับผลิตสินค้า อาหารเสริมพืช สั่งผลิตตราตัวเองขั้นต่ำ 1 ลัง ออกแบบแบรนด์ ออกแบบฉลาก ส่งวิเคราะห์ขึ้นทะเบียน ถูกต้อง ขายสบายใจทำตลาดของตัวเอง รับประกันสินค้า มีหลากหลายเกรดให้เลือก สอบถามโทร 0897522999 0815502458 ครับ
http://www.pnpandbest.com
http://www.pnpandbest.com
ผู้ใช้งานขณะนี้
สมาชิกกำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และบุคลทั่วไป 7