น้ำยาง

น้ำยางเกิดขึ้นได้อย่างไร  ไหลและหยุดได้อย่างไร

        น้ำยาง (Latex)


        น้ำยาง  เป็นของเหลวสีขาวถึงขาวปนเหลือง  ขุ่นข้นอยู่ในท่อน้ำยางซึ่งเรียงตัวกันอยู่ในเปลือกของต้นยาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลือกด้านในซึ่งอยู่กับเยื่อเจริญ  การเอาน้ำยางออกจากต้นยางจะต้องทำให้ท่อน้ำยางขาดออกจากกัน  ในน้ำยางจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญอยู่ 2 ส่วน  คือ  ส่วนที่เป็นเนื้อยางและส่วนที่ไม่ใช่ยาง ตามปกติในน้ำยางจะมีเนื้อยางแห้งประมาณ  25-45% เนื้อยางแห้งนี้เองเป็นวัสดุมหัศจรรย์ที่มนุษย์นำไปใช้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต  จนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการสำหรับชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน
        น้ำยางมีความหนาแน่น  0.975-0.980  กรัม/มิลลิลิตร  มี  pH ประมาณ  6.5-7.0  อนุภาคยางมีรูปร่างกลมหรือรูปลูกแพร์  ขนาด  0.05-5  ไมครอน  มีอนุภาคต่างๆ  แขวนลอยอยู่ในของเหลว  อนุภาคเหล่านี้มีประจุเป็นลบ  ผลักกันอยู่ตลอดเวลา  ทำให้อนุภาคเหล่านั้นแขวนลอยและคงสภาพเป็นน้ำยางอยู่ได้  จนกว่าจะมีสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ  มารบกวน  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะทำให้น้ำยางเสียเสถียรสภาพและจับตัวกันเป็นก้อน

        น้ำยางประกอบด้วย
                ปริมาณของแข็งทั้งหมด        22-48%
                ปริมาณเนื้อยางแห้ง               20-45%
                สารจำพวกโปรตีน                     1.5%
                สารพวกเรซิน                            2.0%
                คาร์โบไฮเดรต                           1.0%
                สารอนินทรีย์                             0.5%
        ในส่วนประกอบของน้ำยางสามารถแบ่งเป็นส่วนสำคัญๆ  2  ส่วนคือ
                1. ส่วนที่เป็นเนื้อยาง                                ประมาณ  35%        ในเนื้อยางแห้ง (dry  rubber  content)  ประกอบด้วย
                                                                                                                        ยาง (hydrocabon)                         86%
                                                                                                                        น้ำ (กระจายอยู่ใน hydrocabon)    10%
                                                                                                                        สารพวกไขมัน                               3%
                                                                                                                        สารพวกโปรตีน                             1%                        
                2. ส่วนที่ไม่ใช่ยาง                                    ประมาณ  65%        ประกอบด้วยส่วนสำคัญ    2    ส่วน
                                                                                                                        ส่วนที่เป็นน้ำ  หรือที่เรียกว่า ซีรัม (serum)
                                                                                                                        ส่วนของลูตอยด์และสารอื่น หรือที่เรียกว่า อนุภาค เฟรวิสลิ่ง (frey  wyssling)
        ส่วนที่ไม่ใช่ยางนี้ประกอบด้วย
                ส่วนที่เป็นน้ำ                                            ประมาณ  55%
                ส่วนของลูตอยด์ (Lutoid) และสารอื่นๆ    ประมาณ  10%


การเกิดน้ำยาง
        สารตั้งต้นของการสังเคราะห์อนุภาคยางคือ  น้ำตาลซูโครส  (Sucrose) ซึ่งต้นยางเก็บไว้ที่ใบ  อันเปรียบได้กับโกดังอาหารดิบที่ยังไม่ได้ปรุงแต่ง  ต่อเมื่อต้นยางต้องการพลังงานเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ  ก็จะมีการเคลื่อนย้ายน้ำตาลซูโครสจากใบเข้าสู่ภายในเซลสังเคราะห์ยาง  โดยผ่านพลาสมาเลมม่า (Plasmmalemma)  น้ำตาลซูโครสจากใบยางที่เคลื่อนย้ายเข้าสู่เซลสังเคราะห์ยางนั้น  ต้องอาศัยการเหนี่ยวนำโปรตอน (H+)  โดยอาศัยเอนไซม์เพื่อเปลี่ยนน้ำตาลซูโครสเป็นอินทรีย์โมเลกุลต่างๆ  ที่จำเป็นต่อการสังเคราะห์จนได้น้ำยางออกมา  
 


ที่อยู่ของน้ำยาง
        น้ำยางอยู่ภายในท่อน้ำยาง ซึ่งเกิดจากการแบ่งตัวของเยื่อเจริญ  โดยที่กลุ่มเซลล์ชนิดเดียวกันมาเชื่อมต่อกัน  แล้วผนังเซลล์หัวท้ายสลายตัว  อาจเพียงบางส่วนหรือสลายตัวหมด  กลายเป็นท่อเดียวกัน  แล้วแตกสาขาและยังเชื่อมต่อกับเซลล์ชนิดเดียวกันที่อยู่ข้างเคียง  โดยการสลายตัวของผนังเซลล์ด้านข้าง  เกิดเป็นช่องเปิดติดต่อกันได้  ทำให้มีลักษณะคล้ายร่างแห 


ลักษณะของท่อน้ำยาง
        เมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดาพบว่า  ถ้าตัดเปลือกยางออกทางด้านตัดตามขวาง  จะเห็นท่อน้ำยางตรงบริเวณหน้าตัด  มีลักษณะกลมเรียงตัวกันเป็นวงรอบลำต้น  ท่อน้ำยางมีเฉพาะภายในส่วนที่เป็นเปลือกของต้นยาง  ซึ่งเปลือกของต้นยางนี้แบ่งออกเป็น  3  ชั้น  ตามลักษณะของเนื้อเยื่อและการเกิดของ  stone  cell  ในเปลือกยาง
        1. เปลือกชั้นในสุด (soft  bark  zone)  อยู่บริเวณที่ติดกับเยื่อเจริญหรือใกล้กับเนื้อไม้  เป็นเนื้อเยื่อและท่อน้ำยางที่สร้างขึ้นใหม่  จึงเป็นชั้นที่มีจำนวนวงท่อน้ำยางหนาแน่นและและสมบูรณ์ที่สุด  เพราะฉะนั้นผลผลิตสูงสุดของต้นยางแต่ละต้นจะอยู่ที่บริเวณนี้  แต่ความหนาแน่นของเปลือกยางชั้นนี้ค่อนข้างบางคือ  ประมาณ 20-30% ของความหนาของเปลือกทั้งหมดเท่านั้น  และจะไม่มี  stone  cell  เลย  จึงทำให้เนื้อเยื่อชั้นนี้ค่อนข้างอ่อนนุ่ม
        2. เปลือกชั้นนอก (hard  bark) อยู่ถัดจากเปลือกชั้นในสุดออกมาทางด้านนอก  เป็นชั้นที่เยื่อเจริญสร้างขึ้นก่อนแล้วถูกดันออกมาด้านนอกเมื่อมีการสร้างเนื้อเยื่อเจริญใหม่ขึ้นมาแทนที่  ในชั้นนี้จะมี stone  cell  เกิดขึ้น  ซึ่ง stone  cell  เหล่านี้จะทำให้เปลือกยางแข็ง  ท่อน้ำยางไม่สมบูรณ์  ขาดเป็นช่วงๆ 


                                                                                                                                                            แหล่งที่มา ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรการ จ.หนองคาย