วิธีการผลิตยางก้อนถ้วย

 

                การผลิตยางก้อนเป็นการแปรรูปน้ำยางเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยางแท่ง    ยางก้อนที่ผลิตไม่ได้คุณภาพมีสิ่งสกปรกปนอยู่มาก  ทำให้ต้นทุนการผลิตยางแท่งสูงตามไปด้วย  เนื่องจากต้องเสียเวลาและพลังงานในการกำจัดสิ่งสกปรกที่ติดมากับก้อนยาง  การผลิตยางก้อนที่มีคุณภาพจะทำให้ขายได้ราคาดี   ยางก้อนที่ได้มาตรฐานต้องมีลักษณะเป็นรูปถ้วย  สะอาด  ไม่มีสิ่งปะปน  ไม่มีกลิ่น  สีสวย  การผลิตยางก้อนถ้วยเป็นวิธีการที่ง่าย  สะดวก  ประหยัดค่าใช้จ่ายในการผลิต  ใช้เวลาและแรงงานน้อย  ต้นทุนการผลิตต่ำ 

                การผลิตยางก้อนถ้วยต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับ  ระบบกรีดที่ชาวสวนใช้    ปริมาณน้ำยางต่อต้นในแต่ละครั้งกรีด  ขนาดของแปลงกรีด  เปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งของน้ำยางที่กรีดได้  ข้อมูลเหล่านี้จะใช้ในการคำนวณปริมาณการใช้กรด  การเตรียมวัสดุอุปกรณ์  และกำหนดเวลาในการทำงาน  จำนวนแรงงานที่ใช้  เป็นต้น

                การผลิตยางก้อนนั้นมีหลายรูปแบบในการทำให้น้ำยางจับตัว  ดังนี้

                1. การทำยางก้อนถ้วยบนต้นยาง  

                                วิธีที่ 1 การหยอดน้ำกรดลงในถ้วยรองน้ำยางก่อนการกรีด  มีวิธีการดังนี้

                                1. กรีดยางครั้งแรกเพื่อเตรียมน้ำเลี้ยงเซรุ่ม  โดยกรีดยางลงในถ้วยแล้วปล่อยให้แข็งตัวตามธรรมชาติ  เป็นเวลา  2  วัน

                                2. แคะยางก้อนถ้วยขึ้นเสียบกับลวดที่รองรับถ้วยน้ำยาง

                                3. หยอดน้ำกรดเจือจางความเข้มข้นประมาณ 10  เปอร์เซ็นต์ (กรดฟอร์มิค  90%  อัตรา  10  ซีซี  ต่อน้ำสะอาด  90  ซีซี)  1  ครั้งบีบ  ( 12-15  ซีซี)  ลงในถ้วยที่มีน้ำเลี้ยงเซรุ่ม 

                                4. กรีดยาง  ระวังอย่าให้สิ่งสกปรกตกลงในถ้วยรองน้ำยาง  กรีดจนหมดทั้งแปลงแล้วจึงกลับมาเก็บยางก้อนที่เสียบไว้ใส่ภาชนะ

                                5. ยางที่กรีดไว้ปล่อยให้แข็งตัว  แล้วจึงเก็บในวันถัดไป

                                6. เก็บก้อนยางรวบรวมใส่ภาชนะ (ถุงปุ๋ย หรือถุงตาข่ายไนล่อน)

                                7. นำมาผึ่งบนแคร่ไม้ในร่มไม่ให้ก้อนยางติดกัน  ประมาณ 7-10 วัน  สามารถจำหน่ายได้ 

                                วิธีที่ 2 การหยอดน้ำกรดลงในน้ำยางหลังจากน้ำยางหยุดไหล  มีวิธีการดังนี้

                                1. กรีดยางทั้งแปลงให้น้ำยางไหลตามปกติ 

                                2. เมื่อน้ำยางหยุดไหล  จึงหยอดกรดลงในถ้วยรองน้ำยาง  1  ครั้งบีบ (ประมาณ  12-15  ซีซี)  คนให้เข้ากัน 

 

                                3. ปล่อยให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อนในถ้วย

                                4. ก่อนกรีดครั้งต่อไปเก็บก้อนยางจากถ้วยเสียบลวดทิ้งไว้ 

                                5. เมื่อกรีดครั้งต่อไปเก็บก้อนยางที่เสียบลวดไว้ใส่ภาชนะ  แล้วแคะยางก้อนในถ้วยขึ้นเสียบลวดไว้  ยางก้อนที่เก็บใสภาชนะแล้วนำมาผึ่งบนแคร่

 

                                วิธีที่ 3  การหยอดน้ำกรดลงในน้ำยางหลังจากน้ำยางหยุดไหล  เหมือนวิธีที่ 2  แต่จะแตกต่างกันตรงที่วิธีที่ นี้  จะกรีดน้ำยางลงในถ้วยแล้วหยอดกรดให้จับตัว  ทำเช่นนี้ทำหลายๆ  ครั้งกรีด  (3-4  ครั้งกรีด)  จนกว่าจะได้ยางก้อนเต็มถ้วยจึงแคะก้อนยางออกครั้งหนึ่ง

                2. การทำยางก้อนถ้วยในโรงเรือน  เป็นการผลิตยางก้อนถ้วยที่ได้คุณภาพดีที่สุด  ซึ่งมีวิธีการผลิตดังนี้

                                1. เก็บรวบรวมน้ำยางจากต้นยางนำมาที่โรงเรือนสำหรับทำการผลิตยางก้อนถ้วย

                                2. กรองน้ำยางให้สะอาดโดยใช้วิธีเดียวกันกับการผลิตยางแผ่นดิบ

                                3. นำถ้วยรองน้ำยางที่ผ่านการทำความสะอาดแล้ววางเรียงบนโต๊ะหรือบนพื้นที่เรียบสม่ำเสมอ

                                4. เทน้ำยางที่ผ่านการกรองแล้วลงในถ้วยรองน้ำยาง  ถ้วยละ  300  ซีซี 

 

                                5. เตรียมกรด  โดยใช้กรดฟอร์มิค 90%  อัตราเนื้อกรด  0.4%  ของเนื้อยางแห้ง  ก่อนใช้นำไปเจือจางให้มีความเข้มข้นที่  2%   ซึ่งสามารถเจือจางกรดโดยประมาณ  คือ  ตวงน้ำสะอาด  1  ลิตร  ผสมกรดฟอร์มิค 90%  ลงไป  จำนวน  2  ช้อนแกงครึ่ง 

                                6. เทน้ำกรดที่เจือจางแล้วลงในถ้วยน้ำยาง  อัตรา 24  ซีซี (3  ช้อนแกงต่อน้ำยาง 1  ถ้วย (300  ซีซี)  กวนให้เข้ากันดี  ด้วยพายขนาดเล็ก  ไม่ต้องปาดฟองอากาศออก

                                7. ทิ้งไว้ให้จับตัวเป็นก้อน  วันรุ่งขึ้นจึงนำไปแขวนไว้บนราวให้แห้ง  ประมาณ  7-10 วัน  ก็สามารถนำไปจำหน่ายได้ 

                                การจำหน่ายยางก้อนนั้นขึ้นอยู่กับผู้รับซื้อ  ว่าจะมีมาตรฐานหรือต้องการคุณภาพแบบใด  ยกตัวอย่างบางพื้นที่ในจังหวัดหนองคาย  ซื้อขายยางก้อนถ้วยกันสดๆ  ทั้งที่ยังชุ่มน้ำอยู่ก็พ่อค้าก็ยังรับซื้อ  แต่ในบางพื้นที่อาจไม่เหมือนกันพ่อค้าอาจต้องการเฉพาะยางก้อนที่แห้งดีแล้วเท่านั้น  ชาวสวนยางจึงควรศึกษาก่อนการผลิตจำหน่าย 

                                จากงานวิจัยของ  ณพรัตน์  พิชิตชลชัย  และคณะ  พบว่า  การผึ่งยางในวันแรกเปอร์เซ็นต์ความชื้นในก้อนยางจะลดลงมากที่สุด  คือประมาณ  12-16%   และหลังจากผึ่งยางก้อนไป   7  วัน  ค่าความชื้นลดลงน้อยมาก  หรือมีค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งคงที่นั่นเอง  ทั้งนี้  เนื่องจาก  บริเวณผิวของยางก้อนแห้งและเคลือบก้อนยาง  ทำให้ความชื้นที่ยังมีเหลืออยู่ไม่สามารถระเหยออกไปได้อีก




สมดุลย์  พวกเกาะ               ผู้เขียน

นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 7