การหาปริมาณเนื้อยางแห้งในน้ำยางสด
 

น้ำยางเป็นของเหลวสีขาวถึงขาวปนเหลือง  มีส่วนประกอบหลัก  2  ส่วน  คือ  ส่วนที่เป็นเนื้อยาง  กับส่วนที่ไม่ใช่ยาง  ปกติในน้ำยางจะมีเนื้อยางแห้งประมาณ  25-45  เปอร์เซ็นต์  การจำหน่ายน้ำยางสดจะคิดราคาซื้อขายจากปริมาณเนื้อยางแห้งในน้ำยาง  หรือการนำน้ำยางสดไปแปรรูปต่างๆ  จำเป็นต้องทราบปริมาณเนื้อยางแห้งที่มีอยู่ในน้ำยางก่อน จึงจะสามารถคำนวณปริมาณ
การใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้องแม่นยำ  การตรวจหาปริมาณเนื้อยางแห้งสามารถกระทำได้หลายวิธี  แต่ที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบันมี  2  วิธี  ดังนี้

1. การใช้เมโทรแลค (Metrolac)

                เมโทรแลคเป็นเครื่องมือวัด  โดยอาศัยค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำยาง  เมโทรแลคมีทั้งชนิดที่ทำจากโลหะและแก้ว  มีส่วนประกอบที่สำคัญ  2  ส่วน  คือ  ส่วนก้าน  และส่วนกระเปาะ  ที่ส่วนก้านจะมีสเกลขีดกำหนดค่าเนื้อยางแห้งไว้  โดยมี  2  มาตรา  คือ มาตราอังกฤษ  ซึ่งบอกค่าเป็นปอนด์ต่อแกลลอน  และมาตราเมตริก  ซึ่งจะบอกค่าเป็นกรัมต่อลิตร (เป็นมาตราที่นิยมใช้  เนื่องจาก
สามารถคำนวณค่าเป็นกิโลกรัมได้ง่าย) 

                เปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งในน้ำยางจะมีค่าผกผันกับค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำยาง  กล่าวคือ ค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งจะสูงขึ้น
แต่ค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำยางจะลดลง  ในทางกลับกันค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งจะต่ำลงแต่ค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำยางจะเพิ่มขึ้น  ดังนั้น  ถ้าเมโทรแลคจมลงในน้ำยางมาก ก็หมายความว่าน้ำยางมีเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งมาก  สเกลบอกค่าด้านล่างของเมโทรแลค
ที่ใกล้กระเปาะจึงเป็นค่าต่ำ  ส่วนด้านบนเป็นค่าสูง 

ตารางเปรียบเทียบค่าของเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งกับความถ่วงจำเพาะ 

เปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง ความถ่วงจำเพาะ
25 0.992
26 0.990
27 0.989
28 0.988
29 0.987
30 0.986
31 0.984
32 0.983
33 0.982
34 0.981
35 0.980
36 0.979
37 0.978
38 0.976
39 0.975
40 0.974

 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัด                

กระบอกวัด

กระบอกตวง

เมโทรแลค

ตัวอย่างน้ำยางสด

น้ำสะอาด และอุปกรณ์อื่นๆ เช่น  
ถาดรอง (ตะกง)  ภาชนะสำหรับผสม  ช้อนสำหรับคน  
เป็นต้น

ขั้นตอนการวัด  ดำเนินการดังนี้

1.แช่เมโทรแลคในน้ำสะอาด
ก่อนใช้งาน  5-10 นาที
2.ใช้กระบอกตวงตัก
น้ำสะอาดให้เต็ม
3.เทใส่ในภาชนะ
สำหรับผสมตัวอย่างน้ำยาง  จำนวน  2  กระบอก (700  ซีซี.)
4. ใช้กระบอกตวงตัก
ตัวอย่างน้ำยางให้เต็ม
5. เทตัวอย่างน้ำยางจำนวน 1 กระบอก(350)ใส่ในภาชนะ
สำหรับผสมซึ่งตวงน้ำ
สะอาดใส่ไว้แล้ว
6. คนผสมให้เข้ากันดี
7. เทน้ำยางที่ได้ลงใน
กระบอกวัดจนเต็ม (ล้น)
8.อาจมีฟองอากาศลอยอยู่
ด้านบนของกระบอกวัด
9.ปาดฟองอากาศที่ลอยอยู่
ด้านบนออกให้หมดเพื่อความ
สะดวกในการอ่านค่า
10.ค่อยๆ หย่อนเมโทรแลค
ลงในกระบอกวัด
11. จะสังเกตเห็นน้ำยางล้น
ออกมาจากกระบอกวัด(ควร
หาภาชนะรองรับ) รอจน
เมโทรแลคนิ่งจึงอ่านค่า
12. อ่านค่าจากจุดที่สเกล
บนก้านเมโทรแลคตัด
กับระดับน้ำยางพอดี
(บันทึกค่าที่อ่านได้นำไป
คำนวณหา % เนื้อยางแห้ง)

วิธีการคำนวณ

                ค่าที่อ่านได้จากก้านเมโทรแลค  เท่ากับ  100  ตามมาตราวัดในระบบเมตริก
                วิธีคำนวณ                        100 x  3        =    300                กรัมต่อลิตร (1,000  ซี.ซี.)
                คิดเป็นเปอร์เซ็นต์                                  =    300        กรัม        x        100

                                                                                    1,000    
ซี.ซี.

                                                                                =    30%

                หมายความว่า  ในน้ำยางสด  1  ลิตร  เมื่อนำมาทำให้แห้งแล้วจะมีเนื้อยางแห้ง  จำนวน  300  กรัม

 เนื่องจากการใช้งานเมโทรแลคจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ง่าย  ดังนั้น  จึงควรปฏิบัติตามขั้นตอนโดยใช้ความละเอียดในเรื่องเหล่านี้ คือ
                1. ไม่เจือปนสิ่งอื่นใดลงในน้ำยางสดก่อนนำมาวัด
                2. ไม่ทำให้น้ำยางมีอุณหภูมิผิดไปจากปกติ (อุณหภูมิต่ำลงค่าที่อ่านได้จะมากขึ้น  อุณหภูมิสูงขึ้นค่าที่อ่านได้จะลดลง)
                3. ผสมน้ำยางในอัตราที่ถูกต้องแม่นยำ
                4. ทำความสะอาดเมโทรแลคก่อนใช้งานทุกครั้ง  พร้อมปรับอุณหภูมิให้เป็นปกติเสมอ
                5. อ่านค่าด้วยความละเอียด  แม่นยำ  ปาดฟองให้หมด  มองในระดับสายตา 
การใช้งานเมโทรแลคมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้มาก  ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้นำมาใช้วัดเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง
เพื่อการซื้อขายน้ำยาง  แต่จะแนะนำให้ใช้สำหรับใช้งานในโรงงานแปรรูปน้ำยางเท่านั้น  เนื่องจากสะดวก  รวดเร็ว  กว่าวิธีอื่นๆ
                                                                                                                                        


                                                                                                                      สมดุลย์    พวกเกาะ          ภาพ/เขียน
                                                                                                                        นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 7






2.  การหาเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งโดยวิธีการอบตัวอย่างแห้ง

เป็นวิธีที่นิยมใช้ในงานวิจัยและในงานควบคุมคุณภาพที่ต้องการความถูกต้องแม่นยำสูง  โดยจะต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ  1-2  วัน 
ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติ  ดังนี้

1.  ทำการสุ่มตักน้ำยางตัวอย่างมา  ประมาณ  50  กรัม

 

2.  เทน้ำยางตัวอย่างลงในจานอะลูมิเนียม  จานละประมาณ  10  กรัม  และนำไปชั่งจดบันทึกน้ำหนักโดยละเอียด
 


3.  เติมน้ำกลั่นลงในจานบรรจุน้ำยางจานละ  10-20  ซี.ซี.  




4.  หยดสารละลายอะซิติค  2  %  โดยปริมาตร  ลงจานละ  15-20    ซี.ซีหมุนช้าๆ  เพื่อให้มีการผสมเข้ากันจนทั่ว




5.  วางทิ้งไว้ให้ยางจับตัวประมาณ  30  นาที





6. นำชิ้นยางออกจากจานไปทำการรีดให้เป็นแผ่นบาง  โดยให้มีความหนาไม่เกิน  2  มม.






7.  ล้างแผ่นยางให้สะอาดและนำไปอบในตู้อบอุณหภูมิประมาณ  70  องศาเซลเซียส  นานประมาณ  16-20  ชั่วโมง  
จนกระทั่งแผ่นยางแห้งโดยจะเห็นแผ่นยางเป็นแผ่นใส  ไม่มีจุดขาว

 

 

8.  นำแผ่นยางไปทิ้งให้เย็นในโหลดูดความชื้น



9.  ทำการชั่งน้ำหนักแผ่นยางและจดบันทึก



10.  ทำการคำนวณหาเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งโดยใช้สูตร
        เปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง(%)      =    น้ำหนักแผ่นยางแห้ง  x    100
                                 น้ำหนักยางสด


ตัวอย่างเช่น        น้ำยางสดตัวอย่างหนึ่งหนัก  10 กรัม  เมื่อทำเป็นแผ่นและอบแห้งแล้ว  ชั่งน้ำหนักได้  2.8   กรัม  อยากทราบว่า  
น้ำยางสดตัวอย่างนั้นมีเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งเท่าใด
วิธีคิด
             เปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง(%)      =    น้ำหนักแผ่นยางแห้ง  x    100
                                      น้ำหนักยางสด
                       =   2.8x100
                                              10                  
 
                                                                           
นั่นคือน้ำยางสดตัวอย่างนั้นมีเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง 
      28%                                                                                                

                                                                                                                                                                                             จันสุดา  บุตรสีทัด
                                                                                                                                                           นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ
                                                                                                                                                                                                         ภาพ/เนื้อหา