การตัดแต่งกิ่งยางพารา
ขณะที่ต้นยางพาราเข้าสู่ปีที่ 3 ต้นยางพาราบางพันธุ์ เช่น พันธุ์ RRIM 600 (บางต้น)อาจไม่แตกกิ่งหรือแตกกิ่งช้า ซึ่งจะทำให้ลำต้นสูงชลูดและมีลำต้นที่ผอม เมื่อโดนลมพัดพร้อม ๆ กับฝนตก แรงลมและน้ำหนักของน้ำฝนบนใบก็อาจทำให้ต้นยางโน้มและโค้งลง บางต้นไม่สามารถดีดตัวกลับสู่ภาวะตั้งตรงได้เอง ต้องกลายเป็นภาระให้เจ้าของสวนต้องหาไม้มาคำยันหรือใช้เชือกมาดึงยึดโยง ทางแก้ในเรื่องนี้ก็คือ ให้ทำการ "รวบยอด" เพื่อบังคับการแตกกิ่ง เพื่อให้ต้นยางพารามีทรงพุ่มมากขึ้น มีใบมากขึ้น ทำให้ต้นยางเจริญเติบโตเร็วขึ้น หรือเรียกว่า "การสร้างทรงพุ่ม" นั่นเอง
สำหรับวิธีการทำ ก็ให้เลือกทำเฉพาะต้นยางพาราที่สูงเกือบ ๆ 3 เมตร หรือสูงกว่าโดยการรวบใบที่เพสลาดหรือใบที่แก่แล้วของฉัตรยอดหลาย ๆ ใบมาห่อหุ้มยอดต้นยางเอาไว้แล้วรัดด้วยยางเส้นที่ใช้รัดของทั่วไป (เหตุผลที่ใช้ยางรัดของ ก็เพื่อให้ยางขาดหรือเปื่อยไปเอง ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาพอดีที่จะทำให้กิ่งตายางถูกกระตุ้นให้แตกออกมาพอดี)
เมื่อกิ่งยางแตกออกมาซึ่งอาจแตกออกมาหลายกิ่ง ก็ให้พิจารณาและตัดกิ่งที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่สมดุลย์ทิ้ง เหลือกิ่งที่สมบูรณ์และมีความสมดุลย์ไว้ 2-3 กิ่ง ปล่อยให้เจริญเติบโตต่อไป
การเด็ดยอดเพื่อให้ต้นยางพาราแตกกิ่ง จะมีข้อเสียคือต้นยางจะแตกกิ่งเป็นจำนวนมาก มากเกินความต้องการ ซึ่งจะทำให้ทรงพุ่มใหญ่และหนัก เมื่อโดนพายุ ก็มักทำให้กิ่งเหล่านั้นฉีกหรือหัก หรืออาจทำให้ต้นยางล้มได้เช่นกัน นอกจากนี้บริเวณตรงกลางที่กิ่งแตกออกมาจะกลายเป็นแอ่ง เมื่อฝนตกก็จะขังน้ำและเกิดการเน่าได้
สำหรับการควั่นกิ่ง เกษตรกรบางคนอาจใช้มีดคม ๆ หรือคัตเตอร์ทำการควั่นกิ่ง ซึ่งอาจควั่นลึกจนถึงเนื้อไม้(ให้นึกถึงการตอนกิ่งไม้) ผลที่ออกมาคือขนาดลำต้นยางพาราเหนือรอยควั่นโตกว่าลำต้นยางใต้รอยควั่น (การควั่นทำให้เกิดการตัดท่ออาหาร ทำให้อาหารส่งมาสู่ส่วนข้างล่างไม่ได้) ซึ่งต่อมาก็อาจทำให้ยอดหักได้เช่นกัน
การรวบยอดจึงเป็นวิธีที่น่าจะได้ผลดีที่สุด แต่การปฏิบัติในเรื่องนี้คงจะไม่ง่ายนักเนื่องจากยอดยางในขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงมากแล้ว ซึ่งต้องใช้บันไดเข้าช่วย และไม่ควรโน้มกิ่งลงมาเพราะต้นยางอาจจะหักได้ แต่หากไม่คำนึงถึงการขายไม้ในอนาคต เพื่อให้ง่ายขึ้น ก็อาจทำการรวบยอดได้ที่ระดับความสูง 1.7-1.9 เมตร ก็ได้
จากบันทึกหรือบทความก่อนหน้านี้ ทำให้เราพอมองเห็นผลดีผลเสียเกี่ยวกับต้นยางพาราที่ไม่มีการตัดแต่งกิ่ง หรือตัดแต่งกิ่งมากเกินไป หรือกรณีที่ต้นยางพาราไม่แตกกิ่งเลยมาแล้ว จึงขอสรุปเกี่ยวกับวิธีการตัดแต่งกิ่งต้นยางพารา เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1.เราควรมีเครื่องมือที่สำคัญ ๆ เช่น มีดตัดแต่งกิ่งต้นไม้(ที่คม) หรือคัตเตอร์ขนาดที่เหมาะสม, กรรไกรตัดแต่งกิ่ง, เลื่อย และบันได
2.หลักสำคัญของการตัดแต่งกิ่งต้นยางพารา คือ ควรทำช่วงปลายฤดูฝน หรือ ต้นฤดูฝน ไม่ควรตัดกิ่งในฤดูแล้ง
3.ในช่วงระยะแรกขณะที่ต้นยางพารายังเล็กอยู่ ชาวสวนยางจะต้องตัดกิ่งแขนงที่แตกออกมาให้หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนยางในระยะ 2-3 เดือนแรก ต้องหมั่นตรวจดูบ่อย ๆ อาจจะเป็นทุก 7 วัน เพื่อคอยตัดกิ่งแขนงที่แตกออกมาออกให้หมด หลังจากนั้นควรทำการตัดแต่งกิ่งทุก 1-2 เดือน โดยตัดให้ชิดลำต้น แต่ต้องระวังอย่าให้โดนก้านใบของต้นยาง
4.เมื่อต้นยางมีอายุประมาณ 12 เดือน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วต้นยางจะมีความสูง ประมาณ 200 เซ็นติเมตร ก็ให้ตัดแต่งกิ่งในระดับความสูงประมาณตั้งแต่ 100 เซ็นติเมตร ลงมา โดยหลักการแล้ว เราไม่ควรตัดกิ่งตาที่แตกออกมาทิ้งทั้งหมดจนเหลือแต่ยอด แต่ควรจะให้ต้นยางพอจะมีกิ่งมีใบได้บ้างเพื่อการสังเคราะห์แสงสร้างอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของต้นยาง แต่ทั้งนี้ เราต้องตัดแต่งกิ่งนั้นทันทีที่พบว่ากิ่งนั้นเจริญเติบโตกว่ากระโดงยอด หรือเมื่อกิ่งนั้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่าครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นยาง
5.เมื่อต้นยางมีอายุประมาณ 15-18 เดือน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วต้นยางจะมีความสูง ประมาณ 2.75-3.75 เมตร ก็ให้ทำการตัดกิ่งทุกกิ่งที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.4-2.5 เมตร หรือพิจารณาและปฏิบัติตามหลักการในข้อ 4 และที่สำคัญคือไม่ควรโน้มต้นยางพาราลงมาเพื่อตัดกิ่ง เพราะอาจทำให้ต้นยางหักได้ (ตอนนี้กิ่งอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว ก็ให้ใช้กรรไกรตัดกิ่งทิ้งโดยตัดให้ชิดลำต้น)และควรทารอยตัดด้วยปูนขาวหรือปูนแดง หรือ สีน้ำมัน
6.เมื่อต้นยางพาราเข้าสู่ปีที่ 3 ก็ให้ปฏิบัติ เช่นเดียวกับข้อ 5
7.หากสวนยางพาราของเราถูกปล่อยปละละเลยมานาน ทำให้มีกิ่งยางขนาดใหญ่(ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไป ก็ควรตัดออกด้วยเลื่อย โดยทำการเลื่อยด้านล่างของกิ่งก่อน แล้วเลื่อยด้านบนจนขาด
8.กิ่งตาที่แตกเหนือระดับความสูง 2.4-2.5 เมตร ไม่ต้องตัด ปล่อยให้เจริญเติบโต และคอยดูแลให้มีทรงพุ่มที่ได้สมดุลย์ คือ มีการแตกกิ่ง 2 ด้าน หรือ 3 ด้าน หากแตกกิ่งเป็นปางด้านเดียว ก็ให้ตัดทิ้ง เช่นกัน
9.ขณะที่ต้นยางพาราเข้าสู่ปีที่ 3 ในบางต้น ต้นยางพาราบางพันธุ์ เช่น พันธุ์ RRIM 600 อาจไม่แตกกิ่ง ซึ่งจะทำให้ลำต้นสูงชลูด ควรทำการสร้างทรงพุ่ม
ในช่วงนี้ เป็นช่วงต้นฤดูฝน ชาวสวนยางพาราทุกคนล้วนมีงานหรือสิ่งที่ต้องทำ, ต้องจัดการมากพอสมควร เรื่องที่มีความสำคัญมาก ๆ เรื่องหนึ่งในการจัดการสวนยางพาราของเราก็คือ “การตัดแต่งกิ่งยาง” ซึ่งประโยชน์ของการตัดแต่งกิ่งยางมีมากมายเชียวครับ เช่น ช่วยให้ทรงพุ่มของต้นยางพารามีความสมดุลย์, ทำให้ต้นยางโตเร็วและได้ขนาดพร้อมเปิดกรีดเร็วขึ้น, ทำให้ต้นยางพาราที่มีขนาดพร้อมเปิดกรีดมีจำนวนมากขึ้น, ลดต้นทุนการปราบวัชพืช, ลดต้นทุนจากการที่ต้องดูแลกรณียางพาราเป็นโรคหน้ากรีด, ทำให้ความชื้นในสวนยางพารามีความเหมาะสมต่อการไหลของน้ำยางนานขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น, ลดปัญหาการถูกโค่นล้มจากลมและพายุ และสุดท้าย ทำให้ได้ต้นยางพาราที่มีลำต้นหรือเปลา(axle)กลมและตรง-ไม่มีปุ่มปม,ได้ขนาดท่อนละ 1.2 เมตร จำนวน 2 ท่อน อันจะทำให้การขายไม้ยางพาราในอนาคตได้ราคาดีมากขึ้น
ก่อนที่เราจะลงมือตัดแต่งกิ่งต้นยางพารา เรามาดูธรรมชาติของต้นยางพารากันก่อนว่าเป็นอย่างไร สมมุติว่าเราปลูกยางพาราด้วยยางชำถุงขนาด 1 ชั้น และสมมุติว่าปลูกในต้นฤดูฝน ถ้าเป็นทางภาคใต้ ก็ประมาณเดือนพฤษภาคม นี้ หลังจากปลูกแล้วประมาณ 4-6 เดือน หรือผ่านการใส่ปุ๋ยมาสัก 2-3 ครั้ง ต้นยางของเรา(อาจไม่ทุกต้น)ก็เริ่ม ๆ ที่จะผลิตุ่มหรือตาเล็ก ๆ บริเวณเหนือก้านใบ หากเราไม่ตัดแต่งกิ่งเหล่านี้ออกไป สภาพสวนยางพาราของเราจะเป็นอย่างไร เรามาดูกันครับ
1.เมื่อต้นยางพาราโตขึ้น ก้านหรือกิ่งบางส่วนจะหลุุดร่วงไปเองตามธรรมชาติ กิ่งที่เหลือ(เรียกรวม ๆ ว่า "ทรงพุ่ม" ของต้นยาง ทั้งในแถวต้นยางและระหว่างแถวก็จะเจริญเติบโตมาชนกันเร็วกว่าสวนยางพาราที่มีการตัดแต่งกิ่ง ทำให้สภาพสวนยางมีร่มเงามาก วัชพืชจึงมีน้อย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชน้อยตามลงไปด้วย เช่นกัน
2.ลำต้นหรือเปลาของต้นยางพาราจะมีขนาดโตและสูงไม่เท่ากัน เปลาหรือพื้นที่สำหรับเอาไว้กรีดยางในระดับความสูง 1.5 เมตรนั้น คงได้ แต่เราอาจไม่ได้ลำต้นยางหรือเปลาที่เหมาะสมต่อการจะได้ขายไม้ยางในอนาคต ที่ต้องมีเปลาตรงสูง 2.4 เมตร(ได้ขนาดท่อนละ 1.2 เมตร จำนวน 2 ท่อน)
3.เมื่อถึงกำหนดที่ควรเปิดกรีดได้ จำนวนต้นยางพาราที่ได้ขนาดเปิดกรีดจะมีเปอร์เซ็นต์ไม่สูง คือต้นยางที่แตกกิ่งมากลำต้นก็จะอ้วนโต ส่วนต้นที่ไม่ค่อยแตกกิ่ง(จะสูงชลูด)ก็จะยังไม่ได้ขนาดพร้อมเปิดกรีด
4.เมื่อทำการเปิดกรีดยางใหม่โดยเฉพาะในหน้าฝนชุก มีโอกาสที่สวนยางพาราจะถูกเชื้อราเข้าทำลายหน้ากรีด ทำให้หน้ากรีดเน่า เนื่องจากสวนยางที่มีทรงพุ่มหนาแน่น ไม่โปร่ง จะมีความชื้นมากซึ่งจะเอื้อต่อการระบาดของเชื้อรา นั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีผลดีต่อการกรีดยางในหน้าร้อน
5.การกรีดยางในหน้าร้อนในสภาพสวนแบบนี้ น้ำยางจะไหลได้นานกว่าเพราะในสวนยางมีความชื้นมากกว่าสวนยางที่โปร่งหรือสวนยางที่แตกกิ่งน้อย
6.ทรงพุ่มที่หนาแน่นจะเสี่ยงต่อการถูกลมกระหน่ำพัด ทำให้ต้นยางพาราโค่นล้มได้โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ปลูกยางที่มีลมแรงเป็นประจำ
ในทางตรงกันข้าม หากว่าเกษตรกรชาวสวนยางพารามุ่งหวังที่จะให้ได้ต้นยางที่มีเปลาตรงมากเกินไป โดยการตัดกิ่งยางออกหมด ทำให้ต้นยางสูงชะลูด ไม่มีกิ่งหลงเหลืออยู่เลย มีแต่ยอด ผลที่จะตามมา ก็จะตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และการทำแบบนั้น กลับทำให้ต้นยางไม่เจริญเติบโตหรือมีลำต้นไม่ใหญ่พอสำหรับตลาดไม้ยางพารา เพราะการตัดแต่งกิ่งออกก็จะทำให้ใบยางมีน้อยลง ซึ่งใบมีหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหารไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของต้นยางให้เจริญเติบโต และรวมถึงผลผลิตน้ำยางด้วย แถมบางครั้งผลของการตัดแต่งกิ่งที่มากเกินไป ในบางสภาวะ ก็อาจทำให้ต้นยางถึงกับเกิดอาการตายจากยอดได้ เช่นกัน
|